ทุกวันที่ 5 มีนาคมของทุกปี ในบ้านเรามจะถูกให้ความสำคัญและกำหนดให้เป็น วันนักข่าว เนื่องจากเป็นอาชีพที่มีบทบาทและความสำคัญ ต่อสังคมไทย เพราะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่นำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริง ให้คนในสังคมได้รับรู้โดยทั่วกัน แต่จากยุคปัจจุบันที่เป็นโลกของดิจิทัล ข้อมูล ข่าวสาร ขึ้นไปอยู่บนโลกออนไลน และโซเชียลมีเดียเป็นหลัก ทำให้เราอาจจะไม่ได้อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ หรือดูข่าวจากทีวีกันมากนัก เราหาข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายๆ แค่ปลายนิ้ว ในมือถือของเราเอง

จากการเปลี่ยนมาสู่ยุคดิจิทัล ทำให้ใครก็สามารถเข้ามาเป็น “นักข่าว” กันได้ง่ายๆ แถมบางที ก็ไม่ต้องเรียนจบทางด้านสื่อสารมวลชนมาเลยก็ได้ แค่มีความอยากเล่า อยากเขียน ในสิ่งที่ได้พบเจอมา หรือสิ่งที่เราสนใจ บางคนทำได้ดี มีคนดูคนติดตามมากมาย จนเกิดมีรายได้มากมาย และกลายเป็นอาชีพก็มีให้เห็นเยอะแยะ จากอาชีพนักข่าว ก็เลยกลายพันธุ์มาเป็นอาชีพที่เรียกกันว่า คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ แทน
แต่เพราะใครก็มาทำอาชีพนี้ได้ ทำให้หลายต่อหลายครั้ง เรามักจะพบปัญหาการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริงบ้าง ปัญหาการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลบ้าง หรือบางทีก็มีการทำหน้าที่ที่ไม่เหมาะสม และอีกสารพัดปัญหา ซึ่งความจริงแล้ว ไม่ว่าอาชีพไหนๆ ก็ต้องมีหลักการทำงานที่ถูกต้อง ยึดหลักศีลธรรม จรรยาบรรณ อันดีงามของไทยเราในทุกด้าน ไม่ว่าจะด้านขนบธรรมเนียม หรือหลักกฎหมายก็ตาม หรือที่เรียกกันว่า จรรยาบรรมวิชาชีพ นั่นเอง

สำหรับ อาชีพ คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ เองก็คงต้องมีจริยธรรมหรือจรรยาบรรณวิชาชีพเหมือนกับอาชีพนักข่าว หรืออาชีพอื่นๆ แม้ว่าจะไม่ได้ทำหน้าที่เหมือนกันเด๊ะก็เหอะ เพราะเนื้อหาสาระ ข้อมูลข่าวสารที่ คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ นำเสนอไปนั้น ส่งผลต่อคนจำนวนมากในสังคมนั่นเอง วันนี้ สามย่านมิตรทาวน์ เลยอยากจะนำเสนอ จรรยาบรรณ นักข่าว ที่สำคัญๆ ที่นักคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ ควรรู้และต้องยึดไว้เป็นแนวทางในการทำงานด้วย เพราะตอนนี้มีคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ เกิดขึ้นมากมาย หลายระดับอายุ และการศึกษา
1.ต้องเสนอข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน
การสื่อสารอย่างเป็นกลาง ถือเป็นเรื่องสำคัญในฐานะนักสื่อสาร และควรนำเสนอแบบทุกมุมมอง แล้วให้คนอ่านตัดสินใจด้วยวิจารณญาณของตัวเอง
2.ไม่ก้าวก่ายสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่น
การนำเสนอเรื่องราย ต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธ์ส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในวงการบันเทิง หรือเรื่องอื่นๆ ก็ตาม ดังนั้นหากมีความจำเป็นต้องเล่า นำเสนอข้อมูลและข้อเท็จจริงอย่างถูกต้อง

3.ซื่อสัตย์ต่อบุคคลที่นำมากล่าวถึง
ถ้าข้อมูลพูดถึงบุคคลที่ 3 เอามาเล่าต่อ หรืออ้างอิง ควรเอ่ยตามที่ได้ยินมา ซึ่งเป็นความจริง ไม่บิดเบือน หรือเล่าตามที่ได้ตกลงกันไว้เท่านั้น
4.สร้างความสัมพันธ์อันดีแก่ชุมชน
คอนเทนต์ที่เราสร้าง ต้องไม่ทำให้ชุมชนแตกแยก และเพิ่มความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันในชุมชนมากขึ้น
5.ไม่เสนอข่าวหรือข้อมูลในเชิงไม่สุภาพ
โดยเฉพาะ การหย่าร้าง การฆ่าตัวตาย หากมีเนื้อหาไม่เหมาะสมควรขึ้น การเตือนว่าคอนเทนต์เทนต์มีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร
6.อย่ากล่าวโจมตีคู่แข่ง
เพราะการกล่าวโจมตีคู่แข่ง อาจเข้าข่ายหมิ่นประมาท และเป็นการใส่ร้ายแบรนด์อื่นๆ ได้ โดยยังไม่มีการพิสูจน์หรือมีหลักฐานได้

7.ไม่บลูลี่ผู้อื่น
อย่าหัวเราะเยาะความวิกลจริต จิตทราม หรือพลาดโอกาสของบุคคล รวมถึงการบลูลี่ผู้อื่นที่มีพฤติกรรมแปลกไปจากคนทั่วไป ซึ่งอาจเกิดจากความไม่ตั้งใจของตัวบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเพราะการเจ็บป่วย ความเข้าใจผิด หรือแม้แต่การพลั้งพลาดใด ๆ ก็ตาม ไม่ควรนำมาเล่าหรือถ่ายทอดเป็นเรื่องขำขันสนุก แม้สิ่งที่เห็นอาจจะดูตลก
8.เคารพนับถือวัด โบสถ์ เชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์ของบุคคล
ความเชื่อนั้น ถือเป็นเรื่องส่วนบุคคล แม้จะนับถือไม่เหมือนกัน ก็ควรเคารพและไม่ล่วงเกินในสิ่งที่คนอื่นยึดถือและศรัทธา คิดในทางกลับกัน เราก็ไม่ชอบใจหากสิ่งที่เราชื่นชมถูกคนอื่นล้อเลียนหรือแสดงความไม่เคารพใช่ไหมล่ะ
9.แก้ไขข้อผิดพลาดที่พบในทันที
หากคอนเทนต์ที่เรานำเสนอไปแล้วนั้น ดันมีข้อผิดพลาดขึ้น สิ่งที่ควรทำคือรีบแก้ไข ดูว่ามีใครได้รับความเสียหายจากข้อมูลที่ผิดบ้าง และดำเนินการชดเชยตามความเหมาะสม เพื่อลดโอกาสในการเกิดความขัดแย้งนั่นเอง

10.นึกไว้เสมอ อาจมีเด็กและผู้หญิงอ่านข่าวเราด้วย
เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าใครจะดูหรืออ่านข่าวเราบ้าง อาจจะมีเด็ก หรือผู้หญิงด้วยก็ได้ เราจึงควรจะดูว่าคอนเทนต์ที่เรากำลังจะสร้างอันตราย หรือต้องใช้วิจารณญาณแค่ไหน หลีกเลี่ยงได้หรือไม่ หรือหากถ่ายทำหรือสร้างไปแล้ว ก็อาจใช้วิธีการขึ้นป้ายเตือน หรือตัดเนื้อหาบางส่วนออก เป็นต้น
จรรยาบรรณ นักข่าวยังมีอีกมากมายหลายข้อ ซึ่งเพื่อนๆ อาจจะต้องศึกษาเพิ่มเติม แต่เท่าที่เรานำมาฝาก หากเพื่อนๆ ที่เป็นคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ นำไปใช้ ก็ถือว่ามีความรับผิดชอบต่ออาชีพของตนเองแล้ว ยังไงก็ต้องยึดหลักความถูกต้อง ทั้งในด้านศีลธรรม จรรยาบรรณ จริยธรรม และหลักกฎหมายเข้าไว้เป็นดีที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก : Rainmaker (อ้างอิงจาก The Complete Reporter Fundamentals of News Gathering, Writing, and Editing 7ED, ศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน)