ในช่วงนี้เพื่อนๆ ได้รับเบอร์โทรศัพท์แปลกๆ โทรมาหากันบ้างมั้ย? โดยเฉพาะในเรื่องการรับสินค้า พัสดุต่างๆ ที่ตกค้างอยู่ ทำให้หลายคนอาจเกิดความสงสัยและอยากรู้ว่าเป็นจริงหรือไม่ ซึ่งบางส่วนอาจมีคนร้ายแอบแฝงมาได้ และนอกจากเรื่องพัสดุแล้วก็มีมิจฉาชีพหลอกหลวงทางโทรศัพท์อีกหลายเรื่อง ดังนั้น เพื่อให้เพื่อนๆ รู้ทันและไม่ถูกหลอกโทรมาทางโทรศัพท์ สามย่านมิตรทาวน์ มีรายละเอียดของ กลโกงทางโทรศัพท์ ที่พบบ่อยๆ 6 อย่างมาเล่าให้ฟัง

1.บัญชีเงินฝากถูกอายัด/หนี้บัตรเครดิต
เรื่องนี้เป็นข้ออ้างที่มิจฉาชีพนิยมใช้มากสุด ที่จะหลอกว่าเหยื่อถูกอายัดบัญชีเงินฝากและเป็นหนี้บัตรเครดิต เพราะเป็นเรื่องที่สามารถสร้างความตกใจและง่ายต่อการชักจูงเหยื่อให้โอนเงิน
2.บัญชีเงินฝากพัวพันกับการค้ายาเสพติดหรือการฟอกเงิน
หากมิจฉาชีพหลอกถามข้อมูลจากเหยื่อแล้วพบว่าเหยื่อมีเงินในบัญชีเป็นจำนวนมาก จะหลอกต่อว่าบัญชีนั้นๆ พัวพันกับการค้ายาเสพติดหรือติดปัญหาการฟอกเงิน จึงขอให้เหยื่อโอนเงินทั้งหมดมาตรวจสอบ
3.เงินคืนภาษี
ข้ออ้างคืนเงินภาษีจะถูกใช้ในช่วงที่มีการยื่นภาษีและมีการขอคืน โดยมิจฉาชีพจะแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากรแจ้งว่าได้รับภาษีคืนเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ต้องยืนยันรายการและทำตามคำบอกที่ตู้เอทีเอ็ม แต่แท้จริงแล้วขั้นตอนที่ให้เหยื่อทำนั้นเป็นการโอนเงินให้กับมิจฉาชีพ

4.โชคดีรับรางวัลใหญ่
มิจฉาชีพจะอ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่บริษัทหรือตัวแทนองค์กรต่างๆ แจ้งข่าวดีแก่เหยื่อว่า เหยื่อได้รับเงินรางวัลหรือของรางวัลที่มีมูลค่าสูง เมื่อเหยื่อหลงเชื่อ จะหลอกเหยื่อให้โอนเงินค่าภาษีให้
5.ข้อมูลส่วนตัวหาย
ข้อมูลส่วนตัวหายเป็นข้ออ้างที่มิจฉาชีพใช้เพื่อขอข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ โดยจะอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน เล่าเหตุการณ์ที่ทำให้ข้อมูลของลูกค้าสูญหาย และขอให้เหยื่อแจ้งข้อมูลส่วนตัว เช่น วัน/เดือน/ปีเกิด เลขที่บัตรประชาชน และจะนำข้อมูลนี้ไปปลอมแปลงหรือใช้บริการทางการเงินในนามของเหยื่อ
6.โอนเงินผิด
ข้อนี้คนร้ายจะใช้เมื่อมีข้อมูลของเหยื่อค่อนข้างมาก จึงโทรศัพท์ไปยังสถาบันการเงินที่เหยื่อใช้บริการ เพื่อเปิดใช้บริการขอสินเชื่อผ่านทางโทรศัพท์ เมื่อได้รับอนุมัติสินเชื่อสถาบันการเงินโอนเงินสินเชื่อนั้นเข้าบัญชีเงินฝากของเหยื่อ คนร้ายก็จะโทรศัพท์ไปหาเหยื่ออ้างว่าได้โอนเงินผิดเข้าบัญชีและขอให้โอนเงินคืน เมื่อเหยื่อตรวจสอบพบว่ามีเงินโอนเข้ามาจริง จึงรีบโอนเงินไปให้มิจฉาชีพ โดยที่ไม่รู้ว่าเงินนั้นเป็นเงินสินเชื่อที่มิจฉาชีพโทรในชื่อของเหยื่อ

สิ่งที่ควรทำเมื่อเจอเบอร์แปลกๆ หรือได้ฟังข้อมูลที่น่าสงสัย เพื่อนๆ สามารถเช็คเบอร์โทรศัพท์ของแต่ละเครือข่ายมือถือ โดยในปัจจุบันเครือข่ายโทรศัพท์มือถือกำหนดให้ผู้ใช้ซิมโทรศัพท์ ลงทะเบียนชื่อ-นามสกุล เพื่อยืนยันตัวตน หากมีเบอร์ต้องสงสัยว่าเป็นมิจฉาชีพโทรมา สามารถเช็กเบอร์โทรศัพท์ที่ไม่คุ้นเคยว่าเป็นของเครือข่ายไหน หลังจากนั้นก็ให้ติดต่อศูนย์ Call Center ของเครือข่ายมือถือ เพื่อแจ้งข้อมูลเบอร์หลอกลวงไว้ได้คือ
• เช็กเบอร์ AIS กด 727 เบอร์โทรศัพท์ # กดโทรออก
• เช็กเบอร์ DTAC กด 102 เบอร์โทรศัพท์ # กดโทรออก
• เช็กเบอร์ TRUE กด 933 เบอร์โทรศัพท์ # กดโทรออก
• เช็กเบอร์ TOT กด 153 เบอร์โทรศัพท์ # กดโทรออก
นอกจากนี้ ยังมี 5 วิธีเช็กเบอร์โทรศัพท์ว่าเป็นของใคร เช็คเบอร์ใครโทรมา ป้องกันมิจฉาชีพหลอกลวงด้วยวิธีง่ายๆ คือ

1.ค้นหาเบอร์โทรศัพท์ผ่าน Google โดยให้นำเบอร์นั้นไปค้นหาในเว็บไซต์ Google หากเป็นเบอร์มิจฉาชีพที่เคยมีประวัติหลอกลวงผู้อื่น อาจพบข้อมูลที่ผู้เสียหายได้โพสต์เตือนภัยไว้
2.ค้นหาเบอร์โทรศัพท์ผ่าน Facebook โดยสามารถนำเบอร์โทรแปลกๆ ไปสืบค้นผ่านช่องค้นหา (Search) ได้ หากเป็นเบอร์ที่เคยมีประวัติหลอกลวง อาจพบผู้เสียหายโพสต์เตือนภัยไว้
3.ค้นหาเบอร์โทรศัพท์ผ่าน Line โดยใช้ไลน์ในการเพิ่มเพื่อน (Add Friend) ผ่านหมายเลขโทรศัพท์มือถือ ที่สามารถใช้วิธีนี้ค้นหาเบอร์โทรแปลกๆ ได้ แต่จะค้นหาเจอในกรณีที่ลงทะเบียนไลน์ผ่านเบอร์โทรศัพท์มือถือเท่านั้น
4.ติดตั้งแอปพลิเคชัน Whoscall โดยมีการรวบรวบฐานข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ไว้ราว 1 พันล้านเบอร์ มีผู้ดาวน์โหลดใช้งานแล้วกว่า 70 ล้านครั้ง

5.ตรวจสอบข้อมูลผ่านเว็บไซต์ Blacklistseller เว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลชื่อ-นามสกุล, เบอร์โทรศัพท์, หมายเลขบัตรประชาชน, เลขบัญชีธนาคาร ของมิจฉาชีพไว้ เพื่อให้เราตรวจสอบข้อมูลก่อนจะโอนเงินซื้อสินค้า หรือหลงเชื่อข้อมูลเท็จจากเบอร์หลอกลวงต่างๆ ด้วยการเข้าเว็บไซต์ www.blacklistseller.com
เป็นข้อมูลที่เพื่อนๆ สามารถนำไปใช้จะได้ห่างไกลจากการถูกหลอกหลวงทางโทรศัพท์จากเบอร์แปลกๆ ได้ เพราะในสถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้ก็อาจเป็นช่องทางทำให้มิจฉาชีพฉวยโอกาสได้ อย่าลืมว่า เมื่อมีใครโทรมาขอข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ก็ต้องตรวจสอบให้รัดกุมที่สุด อย่าหลงเชื่อแบบง่ายๆ จะได้ปลอดภัยและมั่นใจในการใช้โทรศัพท์และทำธุรกรรมต่างๆ มากขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย และไทยรัฐออนไลน์