แม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยจะประกาศปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทยที่เริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ก็ยังคงวางแผนที่เดินหน้าเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่อไปในปี 2565 ด้วยหลักเกณฑ์ที่มีความเข้มข้นมากขึ้น เช่น ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR จากประเทศต้นทาง และตรวจซ้ำเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย สามารถคัดกรองผู้ที่ติดเชื้ออย่างได้ผล โดยพบจำนวนผู้ติดเชื้อเพียง 0.17% ของจำนวนผู้เดินทางเข้าประเทศ และการตรวจด้วยวิธี RT-PCR สามารถตรวจหาผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาประเทศไทยตลอดปี 2564 ททท. กำลังลุ้นว่าจนถึงสิ้นปีจะมีตัวลขถึง 400,000 คน เมื่อรวมกับรายได้ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกับคนไทยที่เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ จะอยู่ประมาณ 600,000 ล้านบาท ถือเป็นจุดต่ำสุดของการท่องเที่ยวไทยแล้ว โดยในปี 2565 ททท. ตั้งเป้าไว้ว่าประเทศไทยน่าจะมีรายได้รวมจากการท่องเที่ยวประมาณ 1.12 ล้านล้านบาท ภายใต้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 10 ล้านคน ที่จะเข้ามาช่วยสร้างรายได้ประมาณ 630,000 ล้านบาท โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคน 62,580 บาทต่อทริป ซึ่ง ททท. เชื่อว่าทำได้ เมื่อพิจารณาจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาภายใต้โครงการ ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคน 70,240 บาทต่อทริป เพิ่มขึ้น 47% เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายต่อคนของนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2562
ส่วนเป้าหมายคนไทยเที่ยวภายในประเทศ ททท. วางไว้ที่ 120 ล้านคน สร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 490,000 ล้านบาท ถ้าเกิดกรณีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ถึงเป้า ททท.จะส่งเสริมคนไทยเที่ยวในประเทศให้มากขึ้น เพื่อให้การฟื้นตัวของท่องเที่ยว เป็นรูปแบบ V Shape ให้ได้ และเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าว ล่าสุด ททท. ได้ออกมาประกาศทิศทางการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในปี 2565 ด้วยการให้ความสำคัญกับการ “เร่งฟื้นตัว ลุกเร็ว ก้าวไว เติบใหญ่ เข้มแข็ง” โดยการวางรากฐานไปสู่การเป็นการท่องเที่ยวมูลค่าสูง และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว

โดยในส่วนของยุทธศาสตร์ที่ ททท. จะเดินไป คือ การเน้นการคุณค่าและความยั่งยืน โดยการมุ่งเจาะนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ เพื่อสร้างรายได้นำไปสู่การพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมทั้งกระจายความมั่งคั่งสู่ท้องถิ่นชุมชน สร้างความสมดุลระหว่างแหล่งท่องเที่ยวและความต้องการของนักท่องเที่ยว ด้วยการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ และอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ตลอดจนสร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตามกรอบแนวคิด BCG หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) เป็นหลัก
สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ ที่มีความเต็มใจใช้จ่ายสูง และนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง ประกอบด้วย ประชากรผู้มีความมั่งคั่งสูง ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ ผู้ต้องการทำงานจากประเทศไทย ผู้ที่มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ กลุ่มมิลเลนเนียล (Gen Y) กลุ่มแอ็กทีฟ ซีเนียร์ นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และนักท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเต็มใจจ่ายเพิ่มเพื่อตอบสนองคุณค่าประสบการณ์และการสร้างสังคมสุขภาวะ

นอกจากนี้ ททท.จะมุ่งไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและความยั่งยืน โดยสนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปปรับใช้ในการเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และให้ความสำคัญกับการลงทุนในการพลิกโฉมสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และร่วมพัฒนานวัตกรรมบนพื้นฐานของเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาทักษะทางดิจิทัล
ขณะเดียวกันก็จะเดินหน้าและเตรียมความพร้อมสู่ยุคต่อไปของการท่องเที่ยวไทย (Next Generation of Thai Tourism) โดยการตั้งบริษัทลูก เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล และผลักดันให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมคริปโต (Crypto-positive Industry) ตลอดจนใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจโทเคน (Token Economy) ด้วยการใช้ประโยชน์จากสกุลเงินดิจิทัล หรือคริปโตเคอร์เรนซี

รวมไปถึงการใช้ประโยชน์จาก Non-Fungible Token (NFT) ซึ่งเป็นคริปโตเคอร์เรนซีประเภทหนึ่งที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ ปัจจุบันถูกใช้อย่างมากในสินทรัพย์ที่มีความเฉพาะตัวสูงในงานศิลปะต่างๆ เช่น ภาพวาด กราฟิก วิดีโอและเพลง โดย ททท. จะนำมาใช้ประโยชน์กับการท่องเที่ยว เช่น เมื่อมาเที่ยวประเทศไทยแล้วไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทิ้งขยะในพื้นที่ท่องเที่ยวก็ได้เหรียญดิจิทัลเป็นสิ่งตอบแทน หรือมาท่องเที่ยวในประเทศไทยแล้วสามารถเก็บเหรียญดิจิทัลที่จะให้ไปใช้ประโยชน์ หรือกิจกรรมต่างๆ ได้ รวมทั้งในอนาคต ททท. ยังเตรียมผลักดันให้เกิดมาร์เก็ตเพลสเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนเหรียญดิจิทัลสำหรับการท่องเที่ยวด้วย
พร้อมกันนี้ ททท. ยังจะสร้างโลกเสมือนจริงทางการท่องเที่ยว (Metaverse Platform for Tourism) เริ่มต้นจากการนำสวนทุเรียนของไทยจากจังหวัดระยอง จันทบุรี นนทบุรี ศรีสะเกษ มาอยู่ในโลกเสมือนจริง เพื่อให้เกิดการซื้อขายกัน และนำส่งทุเรียนให้ลูกค้าได้ในโลกของความจริงอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์