Saturday, March 18, 2023
Advertising call 02-033-8900 ext. 8819spot_img

ทำความรู้จัก! แสงแดดหน้าหนาว ภัยร้ายทำลายผิวและดวงตา

เพื่อนๆ หลายคนน่าจะรู้กันมาบ้างแล้วว่าแสงแดดมีประโยชน์ เพราะช่วยบำรุงสุขภาพกระดูกให้แข็งแรง เนื่องจากมีวิตามินดีเป็นสารอาหารสำคัญ ในการช่วยป้องกันภาวะโรคกระดูกเสื่อมได้ดีหากได้รับในปริมาณที่เหมาะสม โดยวิตามินดี จะไปจับกับแมกนีเซียม และฟอสฟอรัส เพื่อดึงแคลเซียมไปใช้ในการซ่อมแซมและบำรุงกระดูกให้แข็งแรง

แต่ขณะเดียวกัน แสงแดดก็มีโทษเช่นเดียวกัน โดยแสงแดดที่ตกถึงโลกจะมีรังสีแสงแดดที่มีความยาวคลื่นตั้งแต่ 290-760 นาโนเมตร แบ่งเป็น 3 ช่วงใหญ่ ๆ คือ (1) ช่วงคลื่นระหว่าง 290-320 เรียกว่า ยูวีบี (UVB) (2) ช่วงคลื่น 320-400 นาโนเมตร เรียกว่า ยูวีเอ (UVA) (3) ช่วงคลื่น 400-760 นาโนเมตร เป็นรังสีที่มองเห็นด้วยตาเปล่า (Visible Radiation) ซึ่งรังสีจากแสงแดดที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีหรือฟิสิกส์กับสารเคมีในผิวหนัง ก็คือ รังสีแสงยูวีเอและยูวีบี โดยอาจทำให้ตาเป็นต้อกระจก ผิวหนังเสียหาย กดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และอาจทำลายสารพันธุกรรม (DNA) ภายในเซลล์จนทำให้เป็นมะเร็งผิวหนัง

นอกจากนี้ หากสัมผัสแดดนานเกินไป หรือสัมผัสแดดร้อนจ้า อาจทำให้ผิวหนังไหม้แดด ผิวแห้ง เหี่ยวย่น หยาบกร้าน ดำคล้ำได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาวที่ท้องฟ้ามีเมฆน้อย ไม่มีสิ่งที่ช่วยปะทะแสงอาทิตย์ ทำให้แดดที่ส่องมามีความแรงและจ้าเป็นพิเศษ ดังนั้น เพื่อนๆ จึงควรป้องกันอันตรายจากแสงแดดดังนี้

แสงแดด กับผิวหนัง
หน้าหนาวจะมีอากาศจะแห้งกว่าฤดูอื่นๆ ทำให้ผิวมีความอ่อนแอ ไวต่อแสงแดด และเกิดผลเสียได้ง่ายมากกว่า เพราะเมื่ออุณหภูมิลดลง ความชื้นลดลง ย่อมมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังมนุษย์ตามไปด้วย สภาวะอากาศเช่นนี้ส่งผลให้เกิดผิวแห้งแตกได้ง่าย การดูแลผิวหน้าในหน้าหนาวนี้ ควรดูแลผิวให้ชุ่มชื้นด้วยมอยส์เจอร์ไรเซอร์ชนิดเข้มข้น และปกป้องผิวด้วยครีมกันแดด ประเภทที่สามารถปกป้องไม่ให้รังสียูวีได้ดี ซึ่งโดยทั่วไปแล้วครีมกันแดดชนิดที่สามารถป้องกันรังสียูวีเหล่านี้ จะแบ่งออกตามความสามารถในการปกป้องตามช่วงความยาวคลื่น ดังต่อไปนี้


1.ครีมกันแดดกลุ่มที่ 1 สารกันแดดชนิดดูดแสง (Chemical Sunscreen) สารในครีมจะดูดแสงเข้าไปในโมเลกุลของสาร แล้วเปลี่ยนแสงนั้นให้เป็นพลังงานความร้อน จึงเป็นการป้องกันไม่ให้แสงทะลุผ่านลงไปในชั้นผิวหนังได้

2.ครีมกันแดดกลุ่มที่ 2 สารสะท้อนแสงแดดออกจากผิว (Physical Sunscreen) สารในกลุ่มนี้ เช่น ไททาเนียมไดออกไซด์ ซิงค์ออกไซด์ เป็นต้น ซึ่งหากเป็นซิงค์ออกไซด์จะสามารถสะท้อนแสงทั้งในช่วงคลื่นยูวีเอ ยูวีบี และรังสีที่มองเห็นด้วยตาเปล่าได้เป็นอย่างดี

การเลือกใช้ครีมกันแดดควรอ่านสรรพคุณและส่วนผสมบนฉลากก่อนให้ดีก่อน และควรเลือกชนิดที่มีความเข้มข้นของสารแต่ละตัวอย่างพอเหมาะ โดยการสังเกตที่ค่าเอสพีเอฟ (SPF) ของครีมกันแดด ที่ควรมีค่าสูงๆ และค่า PA (Protection Factor for UVA) ที่ใช้วัดประสิทธิภาพของสารกันแดดที่กันรังสียูวีเอ ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ควรดื่มน้ำมากๆ หาโลชั่นที่มีมอยซ์เจอไรเซอร์เป็นส่วนผสม ลิปมัน เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น และหลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อนจัดหรือนานจัด

แสงแดดกับดวงตา
แสงแดดที่ทำอันตรายต่อดวงตานั้น สามารถทำอันตรายในส่วนต่างๆ ของดวงตาได้คือ เปลือกตา แสงแดดทำให้เกิดจุดด่างดำริ้วรอยรอบดวงตา และยังอาจจะทำให้เกิดมะเร็งบางชนิดขึ้นที่บริเวณเปลือกตาอีกด้วย

ผลกระทบกับเยื่อบุตา
แสงแดดจะทำให้มีการเสื่อมของเยื่อบุตาบริเวณที่ชิดกับขอบตาดำเรียกว่า ต้อลม ซึ่งเกิดจากการระคายเคืองจากลม ฝุ่น รังสียูวี หากต้อลมลุกลามเข้าไปในตาดำจะเรียกว่า ต้อเนื้อ ซึ่งไม่เพียงทำให้เกิดความไม่สวยงาม แต่อาจรบกวนการมองเห็น หรือหากมีการอักเสบ จะทำให้มีอาการปวดและระคายเคืองได้

ผลกระทบกระจกตา
การได้รับรังสียูวีในปริมาณมาก ทำให้เกิดการอักเสบเฉียบพลันของกระจกตา ทำให้มีอาการปวดตามาก น้ำตาไหล มักจะเกิดอาการประมาณ 2-3 ชั่วโมงหลังจากได้รับรังสียูวี

ผลกระทบเลนส์ตา
การได้รับรังสียูวีทำให้เป็นต้อกระจกมากขึ้น ในแต่ละปีมีประชากรกว่า 16 ล้านคนทั่วโลกตาบอดจากต้อกระจก จากรายงานขององค์การอนามัยโลก พบว่าประมาณ 20% ของต้อกระจก อาจมีสาเหตุมาจากการได้รับรังสียูวีมากเกินไป ซึ่งเป็นสาเหตุที่หลีกเลี่ยงได้

ผลกระทบจอประสาทตาตา
ในคนหนุ่มสาวเลนส์ตาที่ยังใสอยู่ไม่สามารถดูดซับรังสียูวีไว้ได้หมด จึงมีโอกาสที่รังสียูวีจะเข้าไปทำลายจอประสาทตาตาทำให้เกิดจอตาเสื่อมได้ แม้ว่าในจอประสาทตาของเราจะมีสารหรือเม็ดสีตามธรรมชาติที่ช่วยป้องกันจอตา แต่สารเหล่านี้จะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้กระบวนการป้องกันจอตาตามธรรมชาติลดลง และเกิดการเสื่อมของจอตาได้ง่ายขึ้นเมื่อได้รับรังสียูวี

วิธีดูแลดวงตาเมื่อต้องเผชิญกับแสงแดด
สวมแว่นกันแดดที่สามารถป้องกันทั้งรังสียูวีเอและบีได้ 99-100% อย่างไรก็ดี ประสิทธิภาพการป้องกันรังสียูวีไม่ได้ขึ้นอยู่กับสีหรือระดับความเข้มของเลนส์ เลนส์ควรมีขนาดใหญ่และกว้าง สามารถปิดบังดวงตาจากแสงแดดได้ทุกองศา หากมีอาการแสบตา ไม่สบายตา อาจหยอดน้ำตาเทียมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับตา หลีกเหลี่ยงการออกแดดในช่วง 11.00-15.00 น. เนื่องจากเป็นช่วงที่แดงแรงที่สุด ปรึกษาจักษุแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับดวงตา และควรตรวจสุขภาพตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

รู้ถึงประโยชน์และโทษกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อนๆ ก็อย่าลืมดูแลตัวเองจากแสงแดดกันให้ดีๆ เพื่อสุขภาพผิวและสายตา

ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสาร กรมการแพทย์ทหารบก

- Advertisment -

“SAMYAN MITRTOWN 3RD ANNIVERSARY มิตรเดย์ มิตรเลิฟ เฟสติวัล ”

ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายแคมเปญ “SAMYAN MITRTOWN...