Friday, March 24, 2023
Advertising call 02-033-8900 ext. 8819spot_img

นั่งทำงานนาน เดินนาน ต้องระวังเสี่ยง’โรคเส้นเลือดขอด’

เพื่อนๆ รู้ไหมว่า การนั่งทำงานเป็นเวลานาน หรือเดินเป็นเวลานาน ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคเส้นเลือดขอดได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่ทุกคนต้องนั่งทำงาน นั่งเรียน หรือเดินนานๆ ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเส้นเลือดขอดได้ ดังนั้นเพื่อให้เพื่อนๆ ไม่เกิดความเสี่ยงโรคนี้ตามมาได้ สามย่านมิตรทาวน์ จึงมีอีกคำแนะนำที่ดีๆ จาก กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง กับการป้องกันและวิธีการดูแลตัวเองมาฝาก

จากข้อมูลของนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า เส้นเลือดขอด เป็นอาการหนึ่งในภาวะหลอดเลือดดำชั้นตื้นผิดปกติ หรือที่เรียกว่า Chronic Venous Disorder (CVD) สามารถพบได้ปกติในปัจจุบัน CVD เกิดจากความดันในหลอดเลือดดำที่สูงมากขึ้น ซึ่งปัจจัยกระตุ้นทำให้เกิดเส้นเลือดขอดมีด้วยกัน 5 ด้าน ดังนี้
1.การมีอายุที่มากขึ้น
2.การตั้งครรภ์
3.ภาวะอ้วน
4.พันธุกรรม ซึ่งจะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
5.การทำงานที่ต้องยืนหรือนั่งเป็นเวลานาน

นอกจากนี้ ยังมีหลายๆ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น 1.ความผิดปกติที่บริเวณลิ้นของหลอดเลือดดำที่ขา ทำให้เลือดไหลกลับสู่หัวใจได้ไม่ดี 2.จากแรงโน้มถ่วงจึงทำให้เกิดความดันในหลอดเลือดมากขึ้น และ 3.จึงทำให้เกิดรอยโรคใน CVD ตามมา เช่น เส้นเลือดฝอย เส้นเลือดขอด ผิวหนังอักเสบ ภาวะหนังแข็ง จนถึงทำให้เกิดแผลลึกตามมา หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

หากมาดูที่แนวทางการรักษาโดยการใช้ ถุงน่องหรือถุงเท้าเพื่อการรักษา จะแตกต่างจากถุงน่องเพื่อความงามทั่วไป เนื่องจากถุงน่องเหล่านี้จะมีความดันที่บริเวณข้อเท้าที่พอเหมาะในการเพิ่มการไหลเวียนในหลอดเลือดดำที่ขา ทำให้เลือดสามารถไหลเวียนกลับสู่หัวใจได้ดีขึ้น จึงสามารถลดความดันในหลอดเลือดดำสูงที่ขาได้ อีกทั้งช่วยลดการอักเสบ ภาวะบวม รวมถึงเพิ่มออกซิเจนให้สามารถเลี้ยงที่ผิวหนังได้ดีขึ้น

ถุงน่องในแบบนี้จะมีความดันสูงที่สุดที่บริเวณข้อเท้า และมีความดันค่อยๆ ลดลงในบริเวณที่เหนือข้อเท้าขึ้นไป โดยผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง เช่น มีอาการบวมของเส้นเลือดฝอย เส้นเลือดขอด หรือมีอาการบวมที่ข้อเท้า หรือหลังการฉีดสารทำลายเส้นเลือดขอด แนะนำให้ใช้ความดันประมาณ 20-30 มิลลิเมตรปรอท ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น มีผิวหนังอักเสบ หรือมีแผลจากหลอดเลือดดำ ควรใช้ถุงน่องที่มีความดันข้อเท้าที่สูงขึ้น โดยถุงน่องยังมีหลากหลายความยาวให้เลือกใช้

สำหรับคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น คนที่ต้องยืนทำงานหรือนั่งเป็นเวลานาน รวมถึงการเดินทางที่ใช้เวลานานกว่า 4 ชั่วโมง ควรใส่ถุงน่องช่วงกลางวัน เพื่อป้องกันอาการภาวะ CVD รวมถึงภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน โดยไม่จำเป็นต้องใส่ในช่วงเวลานอน ซึ่งการใส่ถุงน่องเพื่อการรักษานั้น จะทำให้อาการและรอยโรคจากเส้นเลือดขอดและภาวะ CVD ดีขึ้น และป้องกันการเป็นมากขึ้นของโรคในอนาคต แต่อย่าลืมว่า ก่อนจะได้รับการใส่ถุงน่องเพื่อการรักษา ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือแพทย์เฉพาะทางเพื่อประเมินภาวะของโรค รวมถึงวัดขนาดขาเพื่อให้ได้ความดันข้อเท้าที่เหมาะสมกับแต่ละคน

นอกจากนี้ ยังมีคำแนะนำจากแพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ว่า คนที่มีภาวะหลอดเลือดดำผิดปกติควรปรับพฤติกรรมตัวเองใหม่คือ
1.ไม่ควรยืนหรือนั่งเฉย ๆ เป็นเวลานาน ควรปรับเปลี่ยนท่าบ่อยๆ หรือขยับข้อเท้าหากไม่สามารถลุกออกจากที่นั่งได้ เพื่อให้ร่างกายได้มีโอกาสส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้เต็มที่
2.ช่วงเวลาพัก ควรยกขาสูงกว่าระดับหัวใจ เช่น เอาหมอนหนุนที่บริเวณขาในท่านอน ยกขาสูงอย่างน้อย 10 นาที 1-2 ครั้งต่อวัน


3.ออกกำลังกายตามความเหมาะสมกับช่วงอายุ เช่น เต้นแอโรบิค เล่นโยคะ เดินเพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อ ช่วยให้ลิ้นของเส้นเลือดดำมีการเปิดปิดได้สะดวก และระบบเลือดในร่างกายหมุนเวียนดีขึ้น
4.ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรค
5.หลีกเลี่ยงการอยู่ในภาวะที่กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต เช่น ซาวน่า อบไอน้ำ โยคะร้อน อาบน้ำร้อนจัด
6.ควรงดการใส่รองเท้ามีส้นสูง หรือใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป
7.ควรใส่ ถุงน่องที่มีความดันที่ปลายเท้าประมาณ 20-40 มิลลิเมตรปรอท จะทำให้หลอดเลือดดำสามารถไหลเวียนกลับสู่หัวใจได้ดี ลดภาวะความดันสูงในหลอดเลือดดำ และลดภาวะแทรกซ้อนหลังการรักษา

เพื่อนๆ ที่ต้องเดินมากๆ หรือนั่งทำงานเป็นเวลานาน ก็ควรสังเกต ตัวเองว่ามีอาการในระยะเริ่มต้นหรือไม่ หากมีความเสี่ยงก็ควรปรับพฤติกรรมใหม่ ออกกำลังกาย และปรับเปลี่ยนท่านั่งในการทำงานบ่อยๆ แต่หากคนที่มีอาการแล้วก็ควรรีบไปปรึกษาคุณหมอจะดีที่สุด เพื่อป้องกันความเสี่ยงของโรคที่เป็นมากขึ้น เพราะหากพบและป้องกันได้ทันท่วงที ก็สามารถหายได้ แต่หากปล่อยทิ้งไว้เรื้อรังก็อาจจะเสี่ยงต่ออาการรุนแรง เลวร้ายสุดอาจถึงขั้นผ่าตัด สามย่านมิตรทาวน์ อยากให้ทุกคนแข็งแรงไปพร้อมๆ กัน

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง

- Advertisment -

“SAMYAN MITRTOWN 3RD ANNIVERSARY มิตรเดย์ มิตรเลิฟ เฟสติวัล ”

ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายแคมเปญ “SAMYAN MITRTOWN...