Friday, March 24, 2023
Advertising call 02-033-8900 ext. 8819spot_img

เปิดเทคนิค ‘แก้ท้องผูก’ ที่ทำได้ง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน

เพื่อนๆ คนไหนชอบมีอาการท้องผูกบ้าง? เชื่อว่าหลายคนมีแน่อน เพราะจากพฤติกรรมที่เร่งรีบในแต่ละวัน และการกินอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ เลยทำให้หลายคนมีปัญหาในเรื่องของการขับถ่าย ใครที่ท้องผูกและอยากจะหนีจากปัญหานี้ สามย่านมิตรทาวน์ มีเทคนิคการแก้ปัญหาท้องผูกมาฝาก

1.เพิ่มใยอาหารให้มากขึ้น
ทางแก้ธรรมชาติที่หลายคนอาจมองข้ามคือการรับประทานใยอาหารหรือไฟเบอร์เพื่อช่วยให้ลำไส้กลับมาทำงานเป็นปกติ โดยทั่วไปคนเราควรได้รับใยอาหารประมาณ 20-35 กรัมต่อวัน ซึ่งพบได้มากในอาหารประเภทผัก ผลไม้สดหรือแห้ง ธัญพืช เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ลูกพรุน แครอท หน่อไม้ฝรั่ง และลูกเกด เป็นต้น

เพื่อนๆ คนไหนที่ไม่คุ้นชินกับการกินอาหารเหล่านี้ อาจค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้นทีละน้อย เนื่องจากการรับประทานไฟเบอร์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอาจทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารหรือท้องอืดได้ จึงควรค่อยๆ ปรับปริมาณการรับประทานไฟเบอร์โดยเลือกรับประทานผักและผลไม้ให้ได้วันละ 5 ส่วน (ผลไม้ 1 ส่วนเท่ากับประมาณ 1 กำปั้นมือ หรือ 6-8 ชิ้นพอดีคำ ส่วนผักลวก ผักต้ม ในปริมาณ ½ ถ้วย) และในแต่ละมื้อควรมีผักผลไม้ที่หลากหลาย เพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์อย่างครบถ้วน

สำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่มีปัญหาในการเคี้ยวผัก รู้สึกท้องอืดหรืออาหารไม่ย่อยจากการรับประทานผัก อาจปรับเปลี่ยนรูปแบบการรับประทานเป็นผักที่ผ่านการปรุงหรือทำให้นิ่มลง เช่น ต้มจับฉ่าย ซุปผัก หรือน้ำผักปั่นละเอียด เพื่อให้ได้รับไฟเบอร์เข้าสู่ร่างกายง่ายยิ่งขึ้น แต่อาจต้องแลกกับปริมาณวิตามินที่ลดลง

2.ดื่มน้ำให้มากขึ้น
แม้ว่าน้ำที่เข้าสู่ร่างกายจะถูกขับผ่านทางปัสสาวะเป็นหลัก แต่บางส่วนจะถูกขับผ่านทางอุจจาระเช่นกัน ผู้ที่มีอาการท้องผูกจึงควรดื่มน้ำสะอาดควบคู่ไปกับการรับประทานอาหารด้วย เพื่อช่วยให้ใยอาหารดูดซับน้ำได้ดี ทำให้อุจจาระพองตัว นุ่ม และเบ่งออกได้ง่าย และช่วยบรรเทาป้องกันอาการท้องอืดจากการรับประทานใยอาหารมากเกินไป

นอกจากนี้ ในแต่ละวันคนเราควรดื่มน้ำสะอาดประมาณ 2 ลิตรหรือประมาณ 8-10 แก้ว โดยช่วงแรกให้ค่อยๆ เพิ่มปริมาณในการดื่มน้ำให้มากขึ้น 1-2 แก้วจากปริมาณน้ำที่ดื่มปกติ ดื่มน้ำในตอนเช้าของทุกๆ วัน และอาจเลือกจิบน้ำมะนาวผสมน้ำอุ่นควบคู่ไปด้วย เพื่อกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ส่วนเพื่อนๆ คนไหนที่มีอาการป่วยควรหลีกเลี่ยงการได้รับน้ำจากเครื่องดื่มจำพวกแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำออกไปมากกว่าเดิม ซึ่งหากดื่มน้ำไม่เพียงพอในขณะเกิดอาการท้องผูกอาจทำให้อุจจาระแข็ง ถ่ายลำบาก และร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำได้อีกด้วย

3.ขยันออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายเป็นประจำประมาณ 30 นาทีต่อวัน อาจเป็นการเดินเร็วหรือวิ่งเหยาะๆ รวมไปถึงพยายามเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวันบ่อยๆ เพื่อช่วยเพิ่มการบีบตัวของลำไส้มากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อและระบบขับถ่ายทำงานเป็นปกติมากขึ้น

4.ปรับพฤติกรรมการขับถ่ายให้ถูกต้อง
วิถีที่เร่งรีบของสภาพสังคมก็มีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการท้องผูกได้ง่าย ผู้ที่มีอาการท้องผูกบ่อยควรเริ่มปรับพฤติกรรมการขับถ่ายให้เป็นเวลาในแต่ละวัน เพื่อให้ร่างกายเกิดความคุ้นเคย โดยเวลาที่แพทย์แนะนำจะเป็นช่วงเวลาหลังรับประทานอาหารเช้า 20 นาที ไม่กลั้นอุจจาระเมื่อเกิดอาการปวดโดยไม่จำเป็นหรือถ่ายด้วยความรีบเร่ง

นอกจากนี้ ท่านั่งในการถ่ายอุจจาระก็สำคัญ การนั่งถ่ายบนโถส้วมชักโครกควรโค้งตัวไปด้านหน้าเล็กน้อย อาจมีเก้าอี้ตัวเล็กรองบริเวณเท้า เพื่อชันเข่าขึ้นมาเล็กน้อย ทำให้หัวเข่าอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าสะโพก ซึ่งเป็นท่าที่ช่วยให้สะดวกต่อการขับถ่าย

5.เสริมการทำงานของลำไส้ด้วยโปรไบโอติกส์
โปรไบโอติกส์ (Probiotics) เป็นแบคทีเรีย หรือจุลชีพ ชนิดดีที่อาศัยอยู่ภายในลำไส้ของคนเราและไม่ก่อโรคให้ร่างกาย เช่น Lactobacillus Bifidobacterium หรือ Sacchromyces Boulardi พบในอาหารบางประเภท โดยเฉพาะโยเกิร์ตและนมเปรี้ยวที่มีการศึกษาพบว่าแบคทีเรียเหล่านี้ช่วยสร้างความสมดุลของสภาวะในระบบการย่อยอาหารและช่วยปรับการทำงานของลำไส้ให้เป็นปกติ

การรับประทานโปรไบโอติกส์ที่พบในอาหารต่างๆ หรือผลิตภัณฑ์โปรไบโอติกส์ในรูปแบบอาหารเสริมอาจเป็นอีกตัวเลือกที่ช่วยบรรเทาอาการท้องผูกให้ดีขึ้นได้ อีกทั้งยังค่อนข้างปลอดภัยและมักไม่เกิดผลข้างเคียง แต่เนื่องจากมีการศึกษาที่ยังไม่มากพอและแต่ละคนอาจมีการตอบสนองต่อแบคทีเรียที่แตกต่างกัน ผู้ที่มีอาการท้องผูกหรือมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ จึงควรปรึกษาแพทย์ เพื่อความปลอดภัยก่อนเลือกใช้อาหารเสริมทุกชนิด

ยาระบายทางเลือกสุดท้ายในการขับถ่าย
เมื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการรับประทานอาหารไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น อีกทางเลือกที่ช่วยบรรเทาอาการท้องผูก คือ ยาระบายหรือยาถ่ายที่รู้จักกันดี ซึ่งตัวยาแบ่งได้หลายชนิด มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งชนิดรับประทาน ยาเหน็บหรือยาสวนอุจจาระ (Suppositories/Enemas) อย่างไรก็ดี กลไกในระบบทางเดินอาหารของแต่ละคน และระดับความรุนแรงของฤทธิ์ยาจะมีความแตกต่างกันไป ดังนั้น ก่อนการใช้ยาระบายทุกครั้ง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อความปลอดภัย เนื่องจากการใช้ยาระบายติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย

เพื่อนๆ คนไหนมีปัญหาท้องผูกลองนำวิธีที่ สามย่านมิตรทาวน์ นำมาฝากไปปรับใช้กันดูนะคะ เพื่อระบบขับถ่ายที่ดีของเพื่อนๆ

ขอบคุณข้อมูลจาก : pobpad

- Advertisment -

“SAMYAN MITRTOWN 3RD ANNIVERSARY มิตรเดย์ มิตรเลิฟ เฟสติวัล ”

ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายแคมเปญ “SAMYAN MITRTOWN...