Wednesday, June 7, 2023
Advertising call 02-033-8900 ext. 8819spot_img

วันออกพรรษา วันสำคัญทางพุทธศาสนาที่หลายคนหลงลืม

วันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งปี 2564 นี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม ถือเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์รวม 3 เดือน ในส่วนของกิจกรรมวันออกพรรษา จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ฝั่งพระภิกษุสงฆ์ และฝั่งฆราวาส ซึ่งแต่ละภูมิภาคจะมีการจัดกิจกรรมวันออกพรรษาไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่คล้ายกันคือ กิจกรรมการตักบาตรเทโว เพื่อสมมติจำลองถึงวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

การตักบาตรเทโว หรือ ตักบาตรเทโวโรหณะ จะเป็นการตักตักบาตรอาหาร ส่วนใหญ่นิยมใช้ ข้าวต้มมัด และข้าวต้มลูกโยน ชาวบ้านจะรอพระภิกษุ สามเณร เดินลงมาจากบันไดอุโบสถ หลังจากทำวัตรเช้า เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นก็สมมติว่าพระพุทธเจ้าเสด็จบันไดสวรรค์ โดยบางแห่งเปิดเพลง หรือบรรเลงดนตรี สมมติว่าเป็นเทวดาบรรเลง ชาวบ้านที่รออยู่ก็จะใส่บาตรด้วยอาหารหวาน อาหารคาว ข้าวต้มลูกโยน

โดยหลังจากมีการทำบุญวันออกพรรษาก็จะมีการทอดกฐิน ชาวบ้านจะนำผ้าใหม่ มาเย็บเป็นจีวร เพื่อถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาครบ 3 เดือน ส่วนใหญ่นิยมทำหลังจากออกพรรษา 1 เดือน นอกจากนี้ ยังมีการทอดผ้าป่า ตามประวัติในอดีตพระภิกษุสงฆ์จะนำผ้าที่ชาวบ้านทิ้งไว้ มารวบรวมทำความสะอาดทำผ้านุ่ง แต่เนื่องจากพระพุทธเจ้ายังไม่ได้บัญญัติให้พระภิกษุรับจีวรจากชาวบ้านได้ ชาวบ้านที่อยากถวายก็นำมาทิ้งตามทางให้พระภิกษุพบ พิธีทอดผ้าป่าในไทยถูกรื้อฟื้นขึ้นมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โดยไม่ได้กำหนดฤดูกาลว่าต้องทำใน 1 เดือนหลังออกพรรษา

นอกจากการตักบาตรเทโว ทอดกฐิน และทอดผ้าป่าแล้ว ยังมีเทศน์มหาชาติ ซึ่งวัดต่างๆ จะมีการจัดเทศน์มหาชาติจำนวน 13 กัณฑ์ เพื่อเล่าถึงพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า ส่วนใหญ่นิยมจัดในวันขึ้นหรือแรม 8 ค่ำ เดือน 12 เพื่อรวบรวมหารายได้เข้าวัด ซึ่งเมื่อออกพรรษาแล้ว พระภิกษุสงฆ์สามารถค้างแรมสถานที่อื่นได้โดยไม่ผิดวินัย และยังได้รับอานิสงส์อีก 4 ข้อ คือ 1.ไปไหนมาไหนโดยไม่ต้องบอกลา 2.ไม่ต้องถือผ้าไตรครบชุด 3.มีสิทธิ์ได้ลาภที่เกิดขึ้นได้ และ 4.มีโอกาสได้อนุโมทนากฐิน ขยายเวลาได้อีก 4 เดือน

ทั้งนี้ ตามประวัติวันออกพรรษา มีเหตุการณ์ในพุทธประวัติเล่าว่าพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดเทวดาชั้นดาวดึงส์ ผู้เคยมาเกิดเป็นพระนางสิริมหามายา เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ถึงเมืองสังกัสสะ ชาวบ้านต่างร่วมใจกันเดินทางไปรับเสด็จพระพุทธเจ้า เป็นที่มาของการตักบาตรเทโวโหรณะ และพระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาท เรียกว่า “ไตรโลกวิวรณปาฏิหาริย์”

สำหรับความสำคัญของวันออกพรรษา คือ การรำลึกถึงเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พุทธศาสนิกชนเตรียมอาหารเพื่อถวายพระภิกษุสงฆ์หลังวันออกพรรษา 1 วัน ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 และพระภิกษุสงฆ์จัดพิธีกรรม “มหาปวารณา” ให้ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกันได้ เนื่องจากพบเห็นข้อบกพร่องระหว่างจำพรรษาอยู่ด้วยกัน รวมถึงเปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัยระหว่างพระภิกษุสงฆ์ พระผู้ใหญ่กล่าวตักเตือนพระผู้น้อยได้ และพระผู้น้อยก็ชี้แนะพระผู้ใหญ่ที่อาวุโสกว่าได้ เพื่อจะได้ระมัดระวัง ไม่ประมาท ให้อยู่ในกรอบของพระวินัย ซึ่งการ “กล่าวปวารณา” เป็นภาษาบาลีจะเริ่มต้นว่า “สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ ทิฎเฐนะ วา สุเตนะ วาปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัส์มันโต อะนุกัทปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปฎิกะริสสามิ”

ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์ และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

- Advertisment -

“SAMYAN MITRTOWN 3RD ANNIVERSARY มิตรเดย์ มิตรเลิฟ เฟสติวัล ”

ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายแคมเปญ “SAMYAN MITRTOWN...