เพื่อนๆ เคยหัวใจเต้นแรง รู้สึกอึดอัด แน่นหน้าอก หายใจไม่ทัน เหงื่อแตก ท้องไส้ปั่นป่วนมั้ย? บางครั้งก็รู้สึกว่า เกิดความกลัว สติหลุด พอไปตรวจสุขภาพก็ปกติทุกอย่าง ถ้าเพื่อนๆ มีอาการแบบนี้สงสัยได้เลยว่า การป่วยที่เกิดขึ้นไม่ใช่อาการทางกาย แต่เป็นอาการป่วยทางจิตอย่างโรคตื่นตระหนก หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อของโรคแพนิก (Panic disorder) นั่นเอง และเพื่อให้เพื่อนๆ ได้รู้จักนี้กันมาขึ้นวันนี้ สามย่านมิตรทาวน์ มีข้อมูลเกี่ยวกับโรคแพนิก มาฝาก

โรคแพนิก คืออะไร
โรคแพนิก (Panic disorder) คือ โรคจิตเวชชนิดหนึ่งที่คนทั่วไปอาจไม่ค่อยเข้าใจความเป็นไปของโรคแพนิกเท่าไรนัก เนื่องจากอาการโรคแพนิกจะแสดงออกเป็นอาการทางกาย จนทำให้ผู้ป่วยเองหรือคนใกล้ชิดอาจคิดว่าเป็นอาการของโรคใดโรคหนึ่งได้ เช่น คนมักมองว่าเป็นแค่อาการเครียดหรือคิดมากเกินไป โดยคิดไม่ถึงว่าจะเป็นอาการของโรคจิตเวช
ลักษณะของโรคแพนิก
ผู้ป่วยจะมีภาวะตื่นตระหนกต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่มีเหตุผล อธิบายง่ายๆ ว่า ผู้ป่วยอาจจะมีความรู้สึกหวาดกลัวอย่างรุนแรงทั้งที่ไม่ได้เผชิญหน้าหรือตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายใดๆ เลย จริงๆ อาการแพนิกไม่อันตราย แต่มักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น กลัวการอยู่คนเดียว ไม่กล้าไปไหนคนเดียว หรือกลัวโรคกำเริบขณะทำกิจกรรมต่างๆ

สาเหตุของโรคแพนิก
ปัจจัยทางร่างกาย
อาจเกิดจากสมองส่วนควบคุมความกลัวที่เรียกว่า อะมิกดาลา ทำงานผิดปกติ เมื่อมีสิ่งกระตุ้นแม้เพียงเล็กน้อยก็จะเกิดพฤติกรรมและความคิดที่ผิดปกติไป ต่อเนื่องไปถึงการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย คล้ายกับระบบสัญญาณกันขโมยที่ดังขึ้นมาทั้งที่ไม่มีขโมยหรือใครมาแตะต้องมันเลย ขณะที่บางคนเป็นโรคนี้ เพราะกรรมพันธุ์ การใช้สารเสพติดจนทำให้เคมีในสมองเสียสมดุล หรือระดับฮอร์โมนผิดปกติไป
ปัจจัยทางจิตใจ
มีงานวิจัยยืนยันว่า คนที่เคยผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต มีความเสี่ยงที่สารเคมีในสมองจะเสียสมดุลได้มากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะในวัยเด็กที่เคยถูกทอดทิ้ง ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกข่มขืน หรือเจอเหตุการณ์รุนแรงอื่นๆ ในชีวิต ก็จะเสี่ยงมีสภาวะจิตใจไม่ปกติได้

อาการของโรคแพนิก
เมื่อเกิดอาการแพนิกขึ้นมา ผู้ป่วยจะมีอาการที่สังเกตได้ ดังนี้ ใจสั่น ใจเต้นแรง อึดอัด แน่นหน้าอก หายใจขัด หายใจลำบาก เวียนหัว ท้องไส้ปั่นป่วน มือชา เท้าชา (มือ-เท้า เย็น) เหงื่อแตก รู้สึกเหมือนควบคุมตัวเองไม่ได้ กลัวเหมือนตัวเองกำลังจะตาย หรือจะเป็นบ้า โดยอาการจะค่อยๆ รุนแรงจนเต็มที่ และจะสงบลงได้เองในเวลาประมาณ 10 นาที หรือนานกว่านั้นแต่ไม่เกิน 1 ชั่วโมง แต่จะเป็นซ้ำๆ แม้จะมีหรือไม่มีสิ่งกระตุ้นก็ตาม
การรักษาโรคแพนิก
1.รักษาด้วยยา
ยาที่ใช้รักษาโรคแพนิกมีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ยาที่ออกฤทธิ์เร็ว อย่างยากล่อมประสาท หรือยาคลายกังวล ที่ผู้ป่วยกินแล้วอาการจะหายในทันที ใช้เมื่อผู้ป่วยมีอาการแล้ว และยาที่ออกฤทธิ์ช้า อย่างยาปรับสารเคมีในสมอง หรือยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้า เพื่อป้องกันการเกิดอาการ ซึ่งจะต้องกินต่อเนื่อง 2-4 สัปดาห์ จึงจะเห็นผล ซึ่งการรักษาโรคแพนิกแรกๆ แพทย์จะให้ยาทั้ง 2 กลุ่ม เพื่อระงับอาการผู้ป่วยจนสามารถเป็นปกติได้ พอผู้ป่วยอาการดีขึ้น แพทย์จะสั่งลดยาที่ออกฤทธิ์เร็ว จนกระทั่งผู้ป่วยหายสนิท ไม่มีอาการแพนิกแล้ว แพทย์ก็จะให้ยาต่อไปอีกประมาณ 8-12 เดือน เพื่อป้องกันการกลับมาของอาการแพนิก

2.รักษาด้วยพฤติกรรมบำบัด
การรักษาโรคแพนิกให้ได้ผลดี ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาทางจิตใจ และพฤติกรรมบำบัดเพื่อปรับแนวคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วยควบคู่ไปด้วย เช่น นั่งพัก หายใจเข้า-ออก ลึกๆ ช้าๆ ยาวๆ และบอกตัวเองว่าอาการไม่อันตราย เดี๋ยวก็หาย หากหายใจเร็วจะยิ่งทำให้อาการรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ อาจมีการพกยารักษาโรคแพนิกติดตัวไว้ตลอดเวลา เมื่อมีอาการมากจนเหนือการควบคุม ให้กินยาบรรเทาอาการ และฝึกการผ่อนคลายด้วยวิธีอื่นๆ เช่น เล่นโยคะ ฝึกสมาธิ ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมต่างๆ ที่ชื่นชอบ
เช็คจากอาการแล้วมีเพื่นๆ คนไหนเข้าข่ายเป็นโรคแพนิกบ้าง? ถ้าใครเป็นแล้วก็ไม่ต้องกลัวนะคะ เพราะโรคแพนิกเป็นโรคจิตเวชที่สามารถรักษาให้หายได้ไม่ยาก ขอแค่เข้าใจโรคนี้ และเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง

ขอบคุณข้อมูลจาก : ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลวิชัยยุทธ และสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย