เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของปวงชนชาวไทย เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงได้ทำไว้ตลอดรัชกาล วันนี้ สามย่านมิตรทาวน์ ขอหยิบยกมาส่วนหนึ่ง ด้วยการพาเพื่อนๆ ไปท่องเที่ยวตามรอยพ่อใน 9 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ส่วนจะมีที่ไหนบ้างไปดูกันเลย

1.โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ จ.สมุทรปราการ
จากปัญหาน้พท่วมขังที่มักเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ และริมณฑล ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงทรงมีพระราชดำริให้พัฒนาคลองลัดโพธิ์ให้กลายเป็นทางระบายน้ำ ด้วยการมีช่องประตูระบายทั้งหมด 4 ช่อง ซึ่งจะเปิดประตูระบายน้ำทันทีเมื่อน้ำท่วมขัง และปิดประตูระบายน้ำเมื่อเกิดน้ำทะเลหนุนสูง การสร้างประตูระบายน้ำดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งวิธีในการช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว นอกจากนี้ ภายในโครงการยังมีการติดตั้งกังหันทดน้ำไว้เผลิตกระแสไฟฟ้าอีกด้วย

2.เขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก
เป็นเขื่อนคอนกรีตบดอัดยาวที่สุดในโลก เกิดขึ้นมาเพื่อช่วยจัดสรรทรัพยากรน้ำให้กับชาวจังหวัดนครนายกและจังหวัดใกล้เคียง ด้วยความยาวของเขื่อนที่มีมากถึง 2,594 เมตร สูง 93 เมตร และจุน้ำได้ 224 ลูกบาศก์เมตร เขื่อนขุนด่านปราการชลจึงมีคุณประโยชน์นานัปการและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ชาวนครนายกภาคภูมิใจ เพราะหากเพื่อนๆ ไปเที่ยวบริเวณด้านหน้าเขื่อนจะได้พบกับวิวทิวทัศน์ของทะเลสาบกลางผืนป่าสีเขียวที่อุดมสมบูรณ์ ส่วนด้านหลังเขื่อนจะเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ซึ่งนอกจากจะมีธรรมชาติสวยๆบริเวณเขื่อนให้ได้ชมและถ่ายรูปแล้ว บริเวณเขื่อนยังมีกิจกรรมล่องแก่งลำน้ำนครนายก การชมพันธุ์ไม้นานาชนิด และการชมพิพิธภัณฑ์ขุนด่านปราการชล ซึ่งภายในจะมีอาคารที่ประทับเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ตั้งอยู่บนยอดเขา

3.เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี
เป็นเขื่อนแกนดินเหนียวที่ยาวที่สุดในประเทศไทย มีความยาวทั้งสิ้น 4,860 เมตร สร้างขึ้นภายใต้โครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำป่าสัก ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริของของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากและปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูร้อน ซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่เก็บกักน้ำแล้ว เขื่อนแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดลพบุรี โดยมีไฮไลต์เป็นการนั่งรถรางไปตามแนวสันเขื่อน ด้วยระยะทางไป – กลับกว่า 10 กิโลเมตร นอกจากนี้ ในบริเวณเขื่อนยังมีหอคอยเฉลิมพระเกียรติ เพื่อชมทัศนียภาพอันงดงามของเมืองลพบุรีแบบ 360 องศา มีพิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสัก และมีพระพุทธรัตนมณีมหาบพิตรชลสิทธิ์มงคลชัย (หลวงปู่ใหญ่ป่าสัก) พระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่สีขาวที่ประดิษฐานอยู่บริเวณท้ายเขื่อนให้กราบขอพร

4.โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี
เป็นโครงการที่พลิกฟื้นผืนดินที่แห้งผากให้คืนสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกร สำหรับจุดเริ่มต้นของโครงการฯ นี้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าวจำนวน 250 ไร่ สำหรับเพาะปลูกพืชทำเป็นโครงการตามพระราชดำริ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรและได้มีชาวบ้านนำมันเทศมาทูลเกล้าฯ ถวาย จึงได้ทรงมีพระราชดำริให้ปลูกแปลงทดลองมันเทศในที่ดินส่วนนี้ แต่เมื่อเสด็จกลับมิได้ทรงนำมันหัวนั้นไปด้วย ครั้นพระองค์เสด็จฯ กลับมาอีกครั้งทรงพบว่ามันหัวนั้นงอกเป็นต้น จึงมีพระราชดำรัสว่า “มันอยู่ที่ไหนก็งอกได้” จึงมีพระราชดำริให้จัดเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชต่าง ๆ โดยเน้นที่พืชท้องถิ่นของเพชรบุรี เช่น มะพร้าว ชมพู่เพชร มะนาว กะเพรา สับปะรด และข้าวไร่พันธุ์ต่างๆ นอกจากนี้ ยังทรงให้ปรับปรุงระบบระบายน้ำที่อ่างเก็บน้ำหนองเสือ เพื่อใช้ในโครงการอีกด้วย

5.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี
ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2525 เพื่อศึกษาค้นคว้าและวิจัยเรื่องระบบนิเวศทางธรรมชาติ ในการหาแนวทางที่เหมาะสมต่อการพัฒนาสภาพพื้นที่ชายฝั่งทะเลของจังหวัดจันทบุรี และเพื่อให้ประชาชนที่สนใจเข้ามาศึกษาสภาพธรรมชาติ ก่อเกิดความเข้าใจเรื่องระบบนิเวศป่าชายเลน และรู้จักใช้ทรัพยากรเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 4,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อ่าวคุ้งกระเบน และพื้นที่โดยรอบ จึงได้มีกิจกรรมที่น่าสนใจภายในศูนย์มากมาย เช่น เดินป่าศึกษาธรรมชาติไปตามสะพานไม้ที่ทอดตัวยาวสู่ใจกลางของป่าชายเลนในระยะทาง 1,600 เมตร และศูนย์เพาะเลี้ยงปลาการ์ตูน สำหรับผู้สนใจและต้องการศึกษา เป็นต้น

6.ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการฟื้นฟูป่าชายเลนจากนากุ้งร้างแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองเก่า – คลองคอย ตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เดิมเป็นพื้นที่สัมปทานนากุ้งในช่วงปี พ.ศ. 2524-2539 ป่าผืนนี้ฟื้นชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยน้ำพระราชหฤทัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อครั้งเสด็จฯ ปราณบุรี ปี พ.ศ.2539 กรมป่าไม้จึงสนองพระราชดำริ ด้วยการยกเลิกสัมปทานและผนวกเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาป่าไม้ปากน้ำปราณบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเป็นการฟื้นฟูป่า และจัดโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 ในปี พ.ศ.2539 ซึ่ง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้เข้าร่วมโครงการและดำเนินการปลูกป่าชายเลน เพื่อฟื้นฟูสภาพพื้นที่และสิ่งแวดล้อม และพัฒนาเป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน ในเวลาต่อมา

7.อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก
เป็นอุทยานที่ตั้งยู่บนรอยต่อของ 2 จังหวัด คือ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ในอดีตนั้นเคยเป็นสมรภูมิรบอันยิ่งใหญ่ที่ถูกจารึก ไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ไทยอย่างไม่มีวันลืมเลือน แม้ควันไฟแห่งสงครามได้จางหายไป เหลือเพียงความสงบ ร่มรื่น และความสวยงามของธรรมชาติป่าเขา อุทยานฯ แห่งนี้ครอบคลุมพื้นที่ 191,875 ไร่ได้รับการประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2527 โดยภูหินร่องกล้ามียอดเขาสูง 1,617 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง มีที่ทิวทัศน์สวยงามปกคลุมไปด้วยป่าเต็งรัง ป่าดิบเขา และป่าสนเขา ที่มีทั้งสนสองใบและสนสามใบ นอกจากนี้ ยังพบกล้วยไม้ ดอกไม้ป่าหลายชนิดขึ้นอยู่ตามลานหิน

8.ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) จังหวัดเชียงใหม่
ก่อตั้งขึ้นภายหลังจากที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมายังบ้านขุนวางในปี พ.ศ.2523 แล้วทอดพระเนตรเห็นท้องทุ่งบริเวณนี้มีการปลูกฝิ่นอยู่เป็นจำนวนมาก พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำรัสให้กองพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ดำเนินการใช้ท้องทุ่งแห่งนี้เป็นสถานที่ทดลองและขยายพันธุ์พืชบนที่สูง เพื่อส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี แก่เกษตรกรบนที่สูง และเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น นักท่องเที่ยวที่มาเยือนศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) จะได้สนุกไปกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่เต็มไปด้วยแปลงไม้ผลเมืองหนาวนานาชนิดให้ชื่นชม

9.โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง) จังหวัดแม่ฮ่องสอน
เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ถูกโอบล้อมด้วยขุนเขาเขียวชอุ่ม แต่ก่อนบริเวณนี้เคยเป็นสถานที่ปลูกฝิ่นของชาวเขา และมีการบุกรุกทำลายป่าอยู่เสมอ จากนั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้รวบรวมราษฎรบริเวณนั้น พร้อมกับพัฒนาความเป็นอยู่ของชางบ้าน ด้วยการส่งเสริมอาชีพปลูกป่า สร้างอ่างเก็บน้ำ และฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์อย่างยั่งยืน ปัจจุบันปางอุ๋งได้กลายมาเป็นแหล่งปลูกพืชที่น่าสนใจหลายชนิด เช่น อะโวคาโด พลับ สาลี่ บ๊วย และมีการปลูกสวนไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาว เช่น กุหลาบ และไฮเดรนเยีย ด้วยความสวยงามของธรรมชาติโดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่มีสายหมอกขาวลอยเหนือผืนน้ำ จึงทำให้ปางอุ๋งกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยว
เพื่อนๆ เคยได้ไปเที่ยวโครงการไหนมาแล้วบ้าง ถ้าเคยไปมาบ้างแล้วแต่ยังไม่ครบตามที่แนะนำไป หรือยังไม่เคยไปหนาวนี้เตรียมเก็บกระเป๋าเลย รับรองฟินแน่นอน
ขอบคุณข้อมูลจาก : traveligo และ Mthai