เพื่อนๆ เคยสงสัยมั้ย? ว่าทำไมการลดความอ้วนของเราในบางครั้งน้ำหนักไม่ลง ในทางตรงกันข้ามบางครั้งมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งที่กินน้อยลง และออกกำลังกายช่วย ถ้าเพื่อนๆ มีคำถามในใจแบบนี้ วันนี้ สามย่านมิตรทาวน์ มีคำตอบมาฝาก แต่ก่อนที่เราจะไปรู้เหตุผลว่าทำไม? ยิ่งลดน้ำหนักยิ่งอ้วน! ก่อนอื่นต้องขอบอกอุปสรรคที่ทำให้อ้วน และน้ำหนักไม่ยอมลงก่อนเลย สิ่งนั้นก็คือ ความหิว ปัจจัยทำให้ฮอร์โมนบางตัวทำงาน และเพื่อให้เพื่อนๆ เข้าใจสิ่งที่ทำให้เกิดความหิว และฮอร์โมนควบคุมความหิว หรือที่เรียกว่า “Hunger Hormone” สามย่านมิตรทาวน์ มีฮอร์โมนเกี่ยวกับความหิวมาเล่าให้ฟัง

ฮอร์โมนเลปติน (Leptin hormone)
เป็นฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกอิ่ม จะถูกสร้างจากเซลล์ไขมันและถูกกระตุ้นไปสมองทำให้อิ่ม ยิ่งมีไขมันเยอะก็จะมีเลปตินที่เยอะ ในทางตรงกันข้ามในภาวะที่มีเลปตินสูงก็จะทำให้เกิดภาวะดื้อเลปติน ทำให้เลปตินทำงานไม่ได้ เมื่อเลปตินสร้างสารไปกระตุ้นที่สมองจึงทำให้สมองไม่รู้สึกอิ่ม จะพบว่า ในคนอ้วนจะมีเลปตินสูงกว่าคนผอมถึง 318% ซึ่งจะทำให้ไม่รู้สึกอิ่ม และสามารถรับประทานอาหารได้เรื่อยๆ คล้ายกับคนที่เป็นโรคเบาหวานจะมีการดื้ออินซูลิน
ฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin hormone)
เป็นฮอร์โมนที่ทำงานตรงกันข้ามกับเลปติน เป็นฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกหิวสร้างมาจากกระเพาะอาหาร เมื่อกระเพาะว่างจะส่งสัญญาณไปที่สมองทำให้รู้สึกหิวและรับประทานอาหาร ในคนอ้วนพบว่าเกรลินจะต่ำลงถึง 50% กว่าในคนผอม จึงทำให้รับประทานอาหารเข้าไปเยอะ อย่างไรก็ตามคนอ้วนก็ยังรับประทานอาหารเยอะ เนื่องจากการทำงานของเลปตินและเกรลินทำงานไม่สมดุลกัน เมื่อมีภาวะดื้อเลปตินจึงไม่รู้สึกอิ่มและทำให้ยิ่งรับประทานอาหารเข้าไป

ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol hormone)
หลายท่านอาจจะเคยรู้สึกว่ายิ่งเครียด ยิ่งรับประทานอาหารเยอะ เนื่องมาจากการหลั่งของฮอร์โมนคอร์ติซอล เป็นกลไกป้องกันตนเอง (Defense mechanism) ทำให้ร่างกายเราต้องการพลังงานเพื่อต่อสู้กับความเครียด เมื่อรับประทานอาหารเข้าไปสมองก็จะรู้สึกผ่อนคลาย มีการหลั่งสารหลั่งออกมาเพื่อสู้กับความเครียดอีกทางหนึ่ง เพราะฉะนั้นเมื่อเราเครียดก็จะยิ่งรับประทานอาหารเยอะ อีกทั้งยังพบว่าเมื่อคอร์ติซอลสูงยังทำให้เกิดภาวะอ้วนลงพุงและเป็นสาเหตุของเส้นเลือดสมองและเส้นเลือดที่หัวใจตีบตันได้
ปัจจัยที่ทำให้ฮอร์โมนทั้ง 3 ตัวที่เล่ามาไม่สมดุลกัน ทำให้เกิดความรู้สึกหิวและทำให้เราอ้วน มีดังนี้
1.การอดอาหารหรือการรับประทานอาหารน้อย
จากงานวิจัยกล่าวว่า การรับประทานอาหารที่น้อยกว่า 800 กิโลแคลอรี่ต่อวัน (Very low calories diet) พบว่าฮอร์โมนเลปตินลดลง 40% และทำให้ฮอร์โมนเกรลินสูงขึ้นด้วย ทำให้รู้สึกหิวและเกิดภาวะโยโย่ (Yoyo Effect) ตามมา ยิ่งไปกว่านั้นการอดอาหารหรือการรับประทานอาหารน้อยจะทำให้ร่างกายเสียสุขภาพ ได้แก่ หน้ามืด เป็นลม ภาวะโลหิตจาง กระดูกบาง มีสมาธิในการเรียนหรือในการทำงานลดลง

เพราะฉะนั้น การลดน้ำหนักที่ถูกวิธี ไม่ใช่การอดอาหารแต่เป็นการเลือกรับประทานอาหารให้ถูกวิธีและปริมาณที่เหมาะสม การลดน้ำหนักที่ถูกต้องคือการลดไขมัน โดยไม่ทำให้กล้ามเนื้อสลายหรือกระดูกบางลง จากงานวิจัยพบว่า ไม่ควรลดน้ำหนักเกิน 2 กิโลกรัมต่อเดือน เพราะจะทำให้ส่งผลเสียต่อร่างกาย อีกทั้งร่างกายมนุษย์มีกลไกป้องกันตนเอง ยิ่งเราอดอาหารมากขึ้นเท่าไร ระบบการเผาผลาญเรายิ่งต่ำลง ทำให้เราอ้วนง่ายขึ้น
2.การอดนอน
จากงานวิจัยพบว่าถ้าเรานอนน้อยกว่า 8 ชั่วโมง ระดับเลปตินจะลดลงถึง 16% ถ้านอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมง ระดับเกรลินก็จะเพิ่มขึ้นถึง 32% ถ้าอดนอน 1 วัน คอร์ติซอลซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียดก็จะสูงขึ้นถึง 37% ดังนั้น การอดนอนจึงเป็นการเพิ่มฮอร์โมนหิว ลดฮอร์โมนอิ่ม ทำให้ยิ่งรับประทานอาหารเยอะ อีกทั้งฮอร์โมนเครียดที่สูงขึ้นเยอะจะทำให้แก่อีกด้วย ดังนั้นจึงควรนอนหลับให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 7 ถึง 8 ชั่วโมง เพื่อเป็นการควบคุมให้ระดับฮอร์โมนมีความสมดุล

3.ความเครียด
เมื่อมีความเครียดฮอร์โมนคอร์ติซอลจะสูงขึ้นและทำให้เกิดภาวะดื้อเลปตินตามมา ทำให้เรายิ่งหิว ซึ่งวิธีที่จะช่วยลดการรับประทานเมื่อเกิดภาวะเครียด มีอยู่ทั้งหมด 4 วิธี หากทำได้ทั้งหมด 4 ข้อ ก็จะทำให้ระดับความเครียดลดลง ทำให้ไม่หิว นั่นก็คือ
1.ทำจิตใจให้สงบ เช่น สวดมนต์ เล่นโยคะ ฝึกลมหายใจให้ผ่อนคลาย
2.นอนหลับให้เพียงพอ
3.ห้ามทานขนมเมื่อรู้สึกเครียด อาจจะหาเป็นกาแฟดำหรือน้ำชา รับประทานแทน
4.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
เพื่อนๆ รู้แบบแล้วใครที่อยากจะลดความอ้วน ห้ามอดอาหาร อดนอน และห้ามเครียดเลยนะคะ เพราะถ้าเราปรับตัวไม่ได้ น้ำหนักที่เราอยากลด ก็อาจจะเพิ่มขึ้นมาแทนก็ได้

ขอขอบคุณข้อมุลจาก : พญ. น้ำทิพย์ พันธ์ทิพทวี สูตินรีแพทย์ และ American Board of Anti-Aging Medicine จากคลินิกแอดไลฟ์ , sanook