ในปัจจุบันเพื่อนๆ มีรายได้และรายจ่ายเป็นกันปกติกันหรือเปล่าเอ่ย? ต้องยอมรับว่า โควิด-19 เข้ามาสร้างผลกระทบกับหลายชีวิตคนพลิกหมุนไปมากมาย ทำให้หลายองค์กรก็ต้องคุ้มเข้มเรื่องค่าใช้จ่ายมากขึ้น และอาจทำให้หลายหลายคนต้องมีรายรับที่ลดลงไปด้วย ดังนั้น การบริหารจัดการเงิน มีความสำคัญอย่างมาก เพราะเปรียบเสมือนการวางแผนชีวิต อนาคตการเงินไว้ล่วงหน้าเลย

หากเพื่อนๆ ต้องเจอปัญหาแบบนี้ สามย่านมิตรทาวน์ วิธีการบริการจัดการเงิน จากธนาคารแห่งประเทศไทย มาให้เพื่อนๆ ได้ลองนำไปปรับใช้กันดู เพื่อนๆ จะได้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่วิกฤตนี้ไปได้ บอกเลยเป็น 5 ข้อที่ทำแล้ว อาจเปลี่ยนแปลงชีวิตของเพื่อนๆ อย่างมากมาย ไปดูกันเลย
1.เริ่มจัดทำ “แผนใช้เงิน” เพื่อวางแผนจัดสรรเงิน
หากเพื่อนๆ มีรายได้ลดลง อย่างแรกที่ควรทำคือ การจัดทำ “แผนใช้เงิน” ด้วยการเขียนและทำบันทึกอย่างจริงจัง ทั้งรายรับรายจ่าย โดยเมื่อเราทำแผนใช้เงินออกมาแล้วก็ต้องใช้จ่ายตามที่กำหนดไว้ หากใช้ส่วนไหนเกินก็ให้ลดรายจ่ายส่วนอื่น เพื่อไม่ให้รายจ่ายมากเกินรายรับ โดยหากมีเวลาก็สามารถเริ่มทำแผนใช้เงินล่วงหน้าสัก 3 เดือน ไว้รองรับเหตุการณ์ต่างๆ ในอนาคต ข้อสำคัญของการวางแผนการเงินที่ดีจะต้องมีรายรับมากกว่ารายจ่าย และต้องจัดสรรเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นเงินสำรองเผื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

2.การปรับตัวและลดสิ่งที่ไม่จำเป็น
เมื่อทำแผนการใช้เงินข้อสำคัญต้องให้มีรายรับมากกว่ารายจ่าย โดยหากอยู่ระหว่างตัดสินใจว่าจะตัดรายจ่ายส่วนใดออกไปดี ก็สามารถเลือกจัดทำแผนรายจ่ายออกมาเป็นสองแบบ คือ
แบบแรก: รายจ่ายจำเป็น เป็นรายจ่ายที่จำเป็นต่อย่างมากต่อการดำรงชีวิตของเราเลย หากไม่จ่ายอาจกระทบถึงสุขภาพหรือคุณภาพชีวิต เช่น อาหาร ยารักษาโรค รายจ่ายประเภทนี้ตัดไม่ได้แต่หาทางเลือกเพื่อลดรายจ่ายได้ เช่น การเลือกทานอาหารที่ไม่จำเป็นต้องเลือกราคาสูง เราก็ปรับมาเลือกซื้ออาหารที่คุ้มค่า คุ้มราคาได้ แบบที่ 2: รายจ่ายไม่จำเป็น เป็นรายจ่ายที่ไม่กระทบต่อชีวิตเรา แต่อาจทำให้มีความสุขน้อยลง เช่น ลดค่ากาแฟ เลิกซื้อของไม่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งสามารถทยอยลดหรือตัดออกได้ หลังจากนั้นก็นำมาทบทวนรายจ่ายทั้งหมดว่า สามารถลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นส่วนใดออกได้บ้าง เพื่อลดรายจ่ายให้มากที่สุด

3.จัดการภาระหนี้
ข้อนี้สำหรับเพื่อนๆ ที่มีรายได้ลดลงและมีหนี้ต้องจ่ายต่อเนื่อง ควรทำตามแนวทางนี้คือ
3.1 การจดรายการหนี้ทั้งหมดและใช้ตารางภาระหนี้เพื่อให้รู้ว่า มีหนี้อะไรบ้าง อัตราดอกเบี้ยและกำหนดจ่าย
3.2 ควรเช็กรายการหนี้ทั้งหมดว่า มีหนี้ที่เข้าเกณฑ์การช่วยเหลือตามมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของภาครัฐหรือไม่ หากเข้าข่ายก็สามารถติดต่อสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้เพื่อขอเข้าร่วมมาตรการได้เช่นกัน
3.3 ข้อนี้หากได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการแล้ว แต่เงินยังไม่พอจ่ายหนี้ หรือไม่สามารถเข้าร่วมมาตรการได้ อีกทางออกคือ ทำหนังสือไปยังสำนักงานใหญ่ของสถาบันการเงินเพื่อขอความอนุเคราะห์ลดจำนวนเงินผ่อนต่อเดือนหรือขยายระยะเวลาการผ่อน โดยระบุจำนวนเงินที่ผ่อนได้หรือเวลาที่ต้องการขยายให้ชัดเจน และความจำเป็นที่ขอความอนุเคราะห์ เพื่อให้สถาบันการเงินพิจารณา หรือหากไม่มีความคืบหน้าก็ใช้การติดต่อผ่าน “ทางด่วนแก้หนี้” เพื่อติดต่อสถาบันการเงินได้อีกทางหนึ่ง

4.หาทางหารายได้เพิ่ม
การหารายได้อื่นๆ เพิ่มขึ้น หากเพื่อนๆ ยังคิดไม่ออกว่าจะหารายได้เพิ่มอย่างไร ก็สามารถเลือกขายของที่ไม่ใช้แล้ว ทั้งเสื้อผ้าของใช้ส่วนที่เกินความจำเป็น หรือของสะสม หรือท้ายที่สุดก็อาจต้องขายทรัพย์สินที่มีอยู่ และเมื่อเริ่มมีรายได้ ค่อยเก็บเงินซื้อใหม่ได้เช่นกัน
5.ตรวจสอบสวัสดิการและมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ
โดยการไปเช็กสวัสดิการที่มีอยู่ ทั้งประกันสังคม หรือมาตรการพิเศษที่รัฐออกมาช่วยเหลือในช่วงวิกฤต เพื่อดูว่าเราเข้าเกณฑ์ตามมาตรการนั้นหรือไม่ หากเข้าเกณฑ์ ให้ติดต่อหน่วยงานนั้นๆ เพื่อขอรับการช่วยเหลือต่อไป
สำหรับเพื่อนๆ ที่อยากหารายได้เพิ่มขึ้นและคิดไม่ออกว่าจะหารายได้อย่างไรดีนั้น ก็มีคำแนะนำจาก “หมอหนี้เพื่อประชาชน” กับการหารายได้ เพื่อนำไปลองปรับใช้กันคือ

1.การสำรวจทุนชีวิต โดยทุนชีวิตของแต่ละคนก็มีไม่เหมือนกัน เช่น ความรู้ ประสบการณ์ความถนัด เครือข่าย สิ่งที่สนใจ
2.กลับมาพิจารณาและวิเคราะห์ใช้ประโยชน์จากทุนที่เรามีอยู่ โดยมองหาประโยชน์จากทุนชีวิตที่มีอยู่ว่าเรามีความเชี่ยวชาญและชำนาญในด้านใด ก็สามารถเลือกทำสิ่งนั้นได้
3.หาอาชีพเสริมที่ตรงกับเรา มาจากการสำรวจทุนชีวิตและคิดวิเคราะห์การใช้ประโยชน์ เพื่อหาอาชีพเสริมที่ใช้ เพื่อต่อยอดสร้างอาชีพเสริม เช่น มีกล้อง มีความรู้ ถ่ายภาพสวย ก็เปิดรับจ้างถ่ายภาพ สอนถ่ายภาพ หรือ ขายภาพถ่ายได้
4.การหาช่องทางตลาด เมื่อเลือกทำอาชีพเสริมแล้ว เพื่อนๆ ก็ต้องหาทางพีอาร์ทำให้คนรู้จัก เช่น เข้าร่วมเครือข่ายของอาชีพที่เราสนใจ หรือโปรโมทผ่าน โซเชียลมีเดียได้เช่นกัน

เป็นอีกคำแนะนำที่เพื่อนๆ ที่มีรายได้ลดลง สามารถลองนำกลับไปใช้ในช่วงนี้ ทั้งการวางแผน จัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายใหม่ และตัดลดจ่ายส่วนที่ไม่จำเป็น แต่หากมีภาระต้องผ่อนหนี้ก็สามารถขอเข้าร่วมโครงการภาครัฐ หรือโครงการจากสถาบันการเงิน พร้อมกับหาทางหารายได้เพิ่มขึ้นที่นำความเชี่ยวชาญของเราไปหาอาชีพเสริม เพื่อบริหารเงินและรายได้ให้ดีมากขึ้น เชื่อว่า เมื่อสถานการณ์ทุกอย่างคลี่คลายและเพื่อนๆ จะสามารถกลับมามีรายได้ที่ปกติ หรืออาจมากขึ้นจากอาชีพเสริมใหม่ๆ อย่างแน่นอน สามย่านมิตรทาวน์ ขอส่งกำลังใจให้เพื่อนๆ ทุกคนที่กำลังเผชิญปัญหาเรื่องรายได้ ให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้โดยเร็ว
ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ เว็บไซต์หมอหนี้เพื่อประชาชน ธปท.