วันหัวใจโลก(world heart day) ตรงกับวันที่ 29 กันยายน ของทุกปี จัดขึ้นเพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของโรคหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของประชากรโลก ทั้งนี้ วันหัวใจโลกมีการจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2000 โดยสมาพันธ์หัวใจโลก (World Heart Federation) อันเกิดจากความร่วมมือของสององค์กร คือ The International Society of Cardiology (ISC) และ International Cardiology Federation ซึ่งได้ร่วมกันก่อตั้งวันหัวใจโลกขึ้นมา โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้วันนี้เป็นวันสำคัญสากลที่ช่วยเตือนให้คนทั่วโลกตระหนักถึงอันตรายของโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งนับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ และเป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกกว่า 17.5 ล้านคนต่อปี

ทั้งนี้ ในช่วงสิบปีแรกของการก่อตั้งวันหัวใจโลก ทางสมาพันธ์หัวใจโลกกำหนดให้ทุกวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนกันยายน เป็นวันหัวใจโลก กระทั่งเมื่อปี ค.ศ. 2011 จึงมีมติเปลี่ยนแปลงวันหัวใจโลกขึ้นใหม่ โดยกำหนดให้วันที่ 29 กันยายน ของทุกปี เป็นวันหัวใจโลก สืบเนื่องมาจนปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีการแบ่งโรคหัวใจโดยทั่วไปออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มที่มีความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว
2.กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบตัน
3.กลุ่มที่มีการนำไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ เช่น โรคหัวใจเต้นพลิ้ว เป็นต้น

อาการของโรคหัวใจมีอะไรบ้าง?
1.อาการเจ็บหน้าอก เป็นอาการสำคัญของโรคหัวใจ แต่อย่างไรก็ตามอาจเกิดจากโรคอื่นได้ด้วย ลักษณะอาการเจ็บหน้าอกที่ชวนสงสัยว่าอาจเกิดจากโรคหัวใจขาดเลือด ได้แก่ เจ็บแน่นคล้ายถูกของหนักทับ มักเป็นบริเวณกลางอก ไม่สามารถระบุจุดที่ปวดมากที่สุดชัดเจนได้ อาจมีร้าวไปที่ไหล่ สะบัก ขากรรไกร แขนซ้ายด้านใน หรือแขนทั้งสองข้างได้ อาการเจ็บหน้าอกมักเป็นมากขึ้นตอนออกแรงหรือมีกิจกรรม และอาการจะทุเลาเมื่อหยุดพัก
นอกจากนี้ยังมีอาการเจ็บหน้าอกจากสาเหตุอื่นๆ เช่น หลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด จะมีความแตกต่างกันคือมีอาการเจ็บหน้าอกแบบแปล๊บแหลม เสียดแทงอย่างรวดเร็วและรุนแรง ร้าวทะลุกลางหลัง อาจมีอาการเหนื่อยผิดปกติ และหน้ามืดร่วมด้วย หรืออาการเจ็บจากภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ อาจเจ็บบริเวณกลางอกค่อนไปทางด้านซ้าย เจ็บจี๊ดๆ แหลมๆ เป็นมากขึ้นเวลาที่หายใจเข้าหรือไอ

2.อาการเหนื่อย ผู้ป่วยจะหายใจเร็วและตื้น ทำกิจกรรมได้อย่างจำกัด อาจมีอาการเป็นมากขึ้นตอนนอนราบ ทำให้นอนราบไม่ได้เมื่อนั่งหรือหนุนหมอนสูงแล้วจะดีขึ้น อาจมีอาการขาบวมร่วมด้วย
3.อาการเขียว เกิดจากออกซิเจนในเม็ดเลือดแดงลดลง อาจมีภาวะเขียวให้เห็นได้ทั้งที่ริมฝีปาก ใบหน้า หรือ ปลายมือปลายเท้า
4.อาการใจสั่น อาการที่ผู้ป่วยรู้สึกว่าหัวใจของตนเต้นไม่สม่ำเสมอ เต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ อาจเป็นชั่วคราวและหายเองหรือเป็นตลอดเวลา อาจมีอาการหน้ามืด วูบ ร่วมด้วย
5.อาการวูบ หน้ามืด หรือหมดสติ อาจกินเวลาเพียงเสี้ยววินาที หรือเป็นนาทีได้ มีภาวะชักเกร็งได้หลังจากฟื้นรู้ตัว ผู้ป่วยมักจะกลับเป็นปกติ ไม่มีอาการแขนขาอ่อนแรงใดๆ

วิธีการป้องกันโรคหัวใจและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้แก่
1.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หลีกเลี่ยงกิจวัตรที่ต้องนั่งเฉย ๆ เป็นระยะเวลานาน เช่น นั่งหน้าทีวีเป็นระยะเวลานาน ควรออกกำลังกาย เช่น เดินเร็ว วิ่ง หรือแอโรบิก อย่างน้อย30นาทีต่อครั้ง 5 วันต่อสัปดาห์ หรือ 150นาทีต่อสัปดาห์
2.ควบคุมน้ำหนัก โดยวัดรอบเอวอย่างสม่ำเสมอ (ในคนเอเชียผู้ชาย ไม่เกิน 90 ซ.ม.ผู้หญิงไม่เกิน 80 ซ.ม.) และคิดคำนวณ BMI (นน.เป็นกิโลกรัมหารส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง) รักษาค่า BMI ให้อยู่ในระดับปกติเสมอคือ 18.5-24.9
3.กำจัดมารหัวใจ (ความเสี่ยงโรคหัวใจ) ด้วยการงดสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ รักษาโรคร่วมที่ส่งผลเสียให้กับหัวใจ ได้แก่ โรคเบาหวาน (การรักษาในปัจจุบันมียาลดระดับน้ำตาลในเลือดที่ช่วยลดการเสียชีวิตจากโรคหัวใจได้ดีอีกด้วย), ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง จำเป็นต้องควบคุมให้อยู่ในระดับที่ปกติ

4.เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อหัวใจ ได้แก่ อาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean diet ) คือเน้นพวกธัญพืช ถั่ว ผัก ผลไม้ ปลา ลดการบริโภคเนื้อแดง เลือกทานแต่ไขมันดี
จัดการกับความเครียด และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
ขอบคุณข้อมูลจาก : พญ. มนธวัล เวชอนันนุรักษ์ อายุรศาสตร์โรคหัวใจโรงพยาบาลเปาโล รังสิต และ kapook