Wednesday, March 29, 2023
Advertising call 02-033-8900 ext. 8819spot_img

วิธีรับมือ! ‘ภัยไซเบอร์’ ภัยร้ายใกล้ตัวคนไทยช่วงโควิด-19

ในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอย มีคนตกงานกันมากขึ้น การทำมาหากินได้ไม่คล่องตัวเหมือนยามเศรษฐกิจเฟื่องฟู โดยเฉพาะในภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19แบบนี้ เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีก็มักจะมีสิ่งที่ไม่ดีตามมาด้วยเสมอ นั่นก็คือ พวกโจรผู้ร้าย หรือบรรดาเหล่ามิจฉาชีพ ที่จะมาทำให้เพื่อนๆ เสียทรัพย์สินเงินทอง ซึ่งปัจจุบันรูปแบบของมิจฉาชีพไม่ได้มาแบบ ปล้น จี้ วิ่งราว แบบประชิดตัว หรือต่อหน้าเหมือนเมื่อก่อน

แต่มีวิธีการเข้ามาทำให้เพื่อนๆ เสียทรัพย์สินเงินทองแบบเนียนๆ ชนิดที่เราไม่ทันได้ตั้งตัว โดยเฉพาะการมาหลอกให้เราเข้าใจผิด ว่าเป็นเพื่อน หรือเป็นญาติที่กำลังเดือดร้อน ต้องการให้เราช่วยเหลือ หรือชักชวนให้ได้รับผลประโยชน์ด้านต่างๆ ด้วยวิธีการทางอินเตอร์เน็ต เอสเอ็มเอส หรือสื่อออนไลน์สารพัด ทั้งหมดนี้ถือเป็นภัยร้ายที่มีชื่อเรียกว่า “ภัยไซเบอร์”

เรื่องของ ภัยไซเบอร์ เชื่อว่าเพื่อนๆ น่าจะเคยได้พบเจอกันมาบ้าง แม้จะไม่ใช่เรื่องของตัวเอง แต่ก็คงมีเพื่อนๆ ญาติ หรือคนรอบข้างที่เคยเจอกับกลุ่มมิจฉาชีพ ที่แฝงตัวมาในรูปแบบต่างๆ อาทิ คอลเซ็นเตอร์ เอสเอ็มเอส อีเมล์ หรือข้อความผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย วันนี้ สามย่านมิตรทาวน์ มีความเป็นห่วงเพื่อนๆ กลัวว่าจะตกเป็นเหยื่อจากกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ จึงอยากจะมาแนะนำวิธีป้องกันภัยไซเบอร์ เพื่อจะได้รู้ทันมิจฉาชีพเหล่านี้ ไม่ต้องมานั่งเสียใจหรือต้องแจ้งความฟ้องร้องให้เสียเวลา ส่วนจะมีวิธีอะไรบ้างไปดูกันเลย

ประเภทของภัยไซเบอร์ใกล้ตัวที่คนไทยถูกหลอกมากที่สุด
1.มิจฉาชีพบน Social Media
วิธีรับมือและป้องกัน

1.อย่าหลงเชื่อข้อความผ่านแชทเพื่อขอให้โอนเงินหรือขอข้อมูลใดๆ หากผู้ส่งข้อความ เป็นเพื่อน ควรติดต่อเพื่อนโดยตรงผ่านช่องทางอื่นเพื่อยืนยัน ตัวตนและจุดประสงค์ก่อน
2.ควรตรวจสอบสลิปโอนเงินจากผู้โอนให้มั่นใจก่อนยืนยันการโอนเงินทุกครั้ง

2.อีเมลหลอกลวง (Phishing)
วิธีรับมือและป้องกัน

หากได้รับอีเมลต้องสงสัยให้ “คิด” ก่อน “คลิก” ควรตรวจสอบผู้ส่ง เนื้อหาและลิงก์ภายในอีเมลโดยละเอียดก่อนตอบกลับหรือให้ข้อมูล เช่น รหัสผ่าน หมายเลขบัตรเครดิต ทุกครั้ง นอกจากนี้ มิจฉาชีพอาจฝังมัลแวร์ (โปรแกรมมุ่งร้าย) ไว้ในเอกสารแนบของอีเมล ซึ่งหากเปิดไฟล์ดังกล่าว จะทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้รับเกิดความเสียหายได้

3.การขโมยข้อมูลส่วนบุคคล (Data Theft)
วิธีรับมือและป้องกัน

1.ไม่ให้ข้อมูลสำคัญกับเว็บไซต์หรือบริการใดๆ หากไม่จำเป็น
2.หมั่นติดตามข่าวสารด้าน Cybersecurity อย่างสม่ำเสมอ หากพบว่ามีข่าวเว็บไซต์หรือบริการที่ท่านใช้งานอยู่ถูกขโมยข้อมูลไป ควรรีบเปลี่ยนรหัสผ่านหรือดำเนินการต่าง ๆ เพื่อป้องกันหรือลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เช่น อายัดบัตรเครดิตทันที
นอกจากนี้ การอัปเดตอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดเพื่ออุดช่องโหว่ด้านความปลอดภัย ก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกัน

นอกจากภัยไซเบอร์ทั้ง 3 แบบที่เล่ามาแล้ว ตอนนี้ยังมีภัยที่มาจากโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเป็นแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ หรือ ข้อความเอสเอ็มเอส ที่หลอกให้เราคลิ๊กเพื่อแฮกข้อมูลเรา ซึ่ง Gogolook ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นป้องกันการฉ้อโกงชั้นนำระดับโลก ที่รู้จักกันในชื่อ Whoscall แอปพลิเคชั่นระบุตัวตนสายเรียกเข้า ได้แนะนำวิธีการป้องกันและรับมือภัยดังกล่าว ดังนี้

1.ถ้ามีเบอร์ที่ไม่รู้จักโทรมา อย่าให้ข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญเด็ดขาด แม้จะถูกปลายสายเร่งรัด เพราะในความเป็นจริงบริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ ส่วนมากจะไม่ใช้วิธีการโทรเพื่อสอบถามข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้

2.ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นที่สามารถระบุตัวตนสายเรียกเข้าได้

3.หากต้องการร้องเรียน ปรึกษาเกี่ยวกับคดีทางไซเบอร์ สามารถแจ้งไปยังคอลเซ็นเตอร์ ศูนย์ PCT สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เบอร์ 1599 หรือ เบอร์ 081-866-3000 ได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ เวลา 08.30-16.30 น.

ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ เพื่อนๆ ต้องมีสติค่ะ และต้องมีความระมัดระวังให้มากที่สุด ในการติดต่อสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย ด้วยการตรวจสอบให้แน่ชัดถึงบุคคลที่เราจะพูดคุยหรือทำธุรกรรมด้วย เพื่อเราจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพ

ขอบคุณข้อมูลจาก : ธนาคารแห่งประเทศไทย, กระทรวงยุติธรรม, แอปพลิเคชั่น Whoscall

- Advertisment -

“SAMYAN MITRTOWN 3RD ANNIVERSARY มิตรเดย์ มิตรเลิฟ เฟสติวัล ”

ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายแคมเปญ “SAMYAN MITRTOWN...