ตอนนี้อุปกรณ์ที่ติดตัวอยู่เพื่อนๆ จนเหมือนกับเป็นอวัยวะที่ 33 คงหนีไม่พ้นโทรศัพท์มือถืออย่างแน่นอน เพราะเป็นตัวช่วยที่ทำให้เรามีชีวิตที่สะดวกสบาย จะซื้อของ จะจ่ายเงิน จะติดต่อสื่อสาร แชท พูดคุยสนทนา กับใคร? ก็ต้องเป็นโทรศัพท์มือถือนี่แหละ เอาเป็นว่า! ตอนนี้ถ้าลืมกระเป๋าสตางค์ไว้ที่บ้านยังไม่เป็นไร ไม่ต้องรีบกลับไปเอาก็ได้ แต่ถ้าลืมโทรศัพท์ไว้ที่บ้านต้องรีบกลับไปเอาโดยด่วน เพราะเชื่อว่าวันทั้งวันเพื่อนๆ คงไม่มีสมาธิจะทำอะไร

เมื่อโทรศัพท์มือถือมีความจำเป็นต่อชีวิตคนยุคนี้ แน่นอนปริมาณการใช้โทรศัพท์แต่ละวันคงจะกินเวลาเข้าไปหลายชั่วโมง ซึ่งนั่นก็หมายถึง การใช้เวลาของสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย เพราะปัจจุบันคนใช้โทรศัพท์พูดคุยด้วยเสียงน้อยลง และหันมาแชทผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ ด้วยข้อความกันมากขึ้น ทำให้โอปอเรเตอร์ต่างๆ ต้องเตรียมสัญญาณเน็ตเอาไว้มากๆ เพื่อรองรับการใช้งานที่มากขึ้น
จากผลการศึกษาวิจัยของ Thailand Digital Outlook ระยะที่ 3 ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ล่าสุด ด้วยการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ภาคประชาชน จำนวน 39,145 ตัวอย่าง ภาคธุรกิจเอกชน จำนวน 3,381 ตัวอย่าง และหน่วยงานภาครัฐที่ให้บริการปฐมภูมิแก่ประชาชน จำนวน 935 ตัวอย่าง ซึ่งได้จัดทำระหว่างเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2564 ถือเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

โดยในช่วงเวลาดังกล่าวศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ได้ประกาศมาตรการควบคุมและบรรเทาเหตุการณ์ดังกล่าวในพื้นที่จังหวัดที่มีการระบาดอย่างรุนแรง รวมถึงการทำงานแบบ work from home ในองค์กรภาคธุรกิจเอกชนและหน่วยงานรัฐบาล จากผลการสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 85.1% มีการใช้งานอินเทอร์เน็ต โดยระยะเวลาการใช้งานโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 6-10 ชั่วโมงต่อวันกันเลยทีเดียว นอกจากนี้ ยังพบว่า กลุ่มประชาชนส่วนใหญ่ มีวัตถุประสงค์หลักของการใช้อินเทอร์เน็ต แบ่งออกเป็น ดังนี้
1.เพื่อรองรับการทำงาน (75.2%)
2.การรับบริการออนไลน์ทางด้านการศึกษา (71.1%)
3.การทำธุรกรรม ซื้อขายสินค้าบริการออนไลน์ (67.4%)
4.การติดต่อสื่อสารสนทนา (65.1%)
5.การทำธุรกรรมออนไลน์ด้านการเงิน (54.7%)
6.กิจกรรมสันทนาการ (53.1%)
7.มีส่วนร่วมในการดำเนินการภาครัฐ (49.6%)
8.การรับบริการออนไลน์ทางด้านสาธารณสุข (48.6%)
9.ติดตามข่าวสารทั่วไป (39.1%)
10.การใช้งานด้านอื่น ๆ (35.6%)
11.การสร้างสรรค์เนื้อหาหรือคอนเทนต์ต่าง ๆ (28.2%)
12.ทำธุรกรรมด้านการท่องเที่ยวออนไลน์ (2.2%)

ยังไม่หมดแค่นั้นนะเพื่อนๆ จากผลการสำรวจยังพบว่า 76.6% ของประชาชนยังซื้อสินค้าและบริการทางออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม โดยมี Shopee และ Lazada เป็นแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ยอดนิยมอันดับต้นๆ
นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ หรือคิดเป็นสัดส่วน 60.7% ใช้บริการออนไลน์ภาครัฐ ยกตัวอย่างเช่น การชำระค่าน้ำและค่าไฟ ส่วนอีก 64.6% ของประชาชนที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง ให้คามเห็นว่า มีการใช้บริการออนไลน์ด้วยการประชุมทางไกลผ่าน VDO Conference โดยสถานที่หลักที่ประชาชนนิยมใช้อินเทอร์เน็ตในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ ที่พักอาศัยของตนเอง (70.2%) และสถานที่ทำงาน (22.2%)

แม้ว่าอินตอร์เน็ตและสื่อออนไลน์จะทำให้ทุกคนมีความสะดวกในการใช้ชีวิตมากขึ้้น แต่จากผลการศึกษาพบว่า 61.7% ของประชาชนมักเกิดความเครียดบ่อยมากขึ้นเมื่อทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ หากมองถึงความปลอดภัยในการซื้อขายหรือทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ มีเพียงแค่ 43.6% ของประชาชนที่รู้จัก พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ 43.1% ของประชาชนเคยพบปัญหาด้านความปลอดภัยทางเทคโนโลยี การป้องการทางเทคโนโลยีโดยส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนรหัสผ่านในการเข้าระบบเท่านั้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES)