จากสภาวะความเครียด ความวิตกกังวล และหลายปัจจัยที่เกิดขึ้นในชีวิต ส่งผลให้มีคนจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจ “หนี” และ “ทิ้ง” ปัญหาทุกอย่างด้วยการ “ฆ่าตัวตาย” ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้เปิดเผยตัวเลขที่น่าตกใจว่า โดยเฉลี่ยแล้วมีคนทั่วโลกฆ่าตัวตายถึงวันละเกือบ 3,000 คน เท่ากับว่าปี ๆ หนึ่งจะมีคนฆ่าตัวตายมากกว่า 1 ล้านคน และตัวเลขก็มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับจำนวนของผู้ที่ลงมือทำร้ายตัวเองที่มีมากกว่าผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 10-20 เท่า ซึ่งคนกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายในอนาคต

สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า อัตราการฆ่าตัวตายในปี 2563 มีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 7.37% ต่ออัตราส่วนแสนประชากร ซึ่งในส่วนของตัวเลขดังกล่าวถือว่ามีการปรับขึ้นจากปี 2562 ที่อัตราการฆ่าตัวตายมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 6.64% เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีอัตราเฉลี่ย 6.32% และปี 2560 ที่มีอัตราเ)ลี่ยอยู่ที่ 6.03%
ด้วยเหตุนี้ องค์การอนามัยโลก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งลดอัตราการฆ่าตัวตายทั่วโลกลง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านอื่นๆ ตามมา ด้วยการกำหนดให้ทุกวันที่ 10 กันยายน ของทุกปี เป็น “วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก” (World Suicide Prevention Day) โดยประกาศเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2003 หรือ พ.ศ. 2546 เพื่อให้คนทั่วโลกตระหนักว่า การฆ่าตัวตายนั้นสามารถป้องกันได้ และให้มีการเผยแพร่ข้อมูล ปรับปรุงพัฒนาการศึกษา และการอบรมให้ความรู้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งในส่วนของประเทศไทยได้กำหนดให้ดอกสะมาเรีย สีขาว หรือที่บ้านเราเรียกว่า ‘บัวดิน’ เป็นสัญลักษณ์การป้องกันการฆ่าตัวตาย เนื่องจากดอกสะมาเรียสื่อความหมายถึงมิตรภาพและความหวังใหม่เพื่อเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนมนุษย์

ปัจจุบันนี้คนไทยสามารถตรวจเช็คตัวเองได้ว่าเข้าข่ายเสี่ยงต่อการ “ฆ่าตัวตาย” หรือไม่? ด้วยการเข้าไปทำแบบคัดกรองโรคซึมเศร้า ทำแบบประเมินโรคซึมเศร้า และทำแบบประเมินการฆ่าตัวตาย ได้ที่นี่ >> www.thaidepression.com
นอกจากนี้ ยังสามารถขอความช่วยเหลือได้จาก กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธรณสุข สายด่วนสุขภาพจิต1323 ศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ โครงการป้องกันผู้มีภาวะซึมเศร้า
โครงการช่วยเหลือผู้ที่ เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย และสมาคมสะมาริตันส์ ป้องกันการฆ่าตัวตาย เป็นต้น

ขอบคุณข้อมูลจาก : kapook และ bangkokbiznews