ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อนๆ น่าจะได้เห็นภาพความประทับใจของ วาฬบรูด้า ที่ขึ้นมาโชว์ตัวบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา เขตพื้นที่ของกรุงเทพมหานครกันมาบ้างแล้ว บอกเลยเป็นภาพแห่งความประทับใจสุดๆ เพราะการโชว์ตัวของน้องวาฬบรูด้าในแต่ละครั้ง จะมีฉากหลังเป็นตึกเมืองหลวง ใครที่เข้ามาชมภาพบนโลกออนไลน์ก็ต่างนั่งอมยิ้มกันทั้งนั้น และเพื่อให้พื่อนๆ รู้จักกับ วาฬบรูด้า กันมากขึ้น สามย่านมิตรทาวน์ มีข้อมูลของวาฬบรูด้ามาเล่าให้ฟัง

วารฬบรูด้า เป็นสัตว์น้ำที่อยู่ในน่านน้ำไทยมานานเป็นร้อยปี และได้รับการขนานว่า “เจ้าแห่งท้องทะเล” หรือทุกคนจะเรียกว่า “ยักษ์ใจดีแห่งท้องทะเล” ส่วนชาวประมง จะเรียกขานคือ “วาฬแกลบ หรือ พ่อปู่” และมีความเชื่อว่าหากใครพบวาฬบรูด้า ในทะเลแล้วจะโชคดี และเรื่องราวสุดพิเศษของวาฬบรูดา จาก “ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน (ศวทบ.) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” มีการเก็บรวบรวมข้อมูลไว้อย่างมากมาย แต่ สามย่านมิตรทาวน์ ขอสรุปมา 8 ข้อคร่าวๆ ที่น่าสนใจ เพื่อให้พื่อนๆ เข้าใจได้ง่ายๆ ดังนี้
1.ความสำคัญของ วาฬบรูด้า (Bryde’s whale)
วาฬบรูด้า เป็นสัตว์ทะเลเลี้ยงสูตรด้วยนม และจะมีสันบนหัว 3 สันที่พบในวาฬบรูด้าเท่านั้น ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ทะเลที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ โดยในไทยมีประมาณ 50 กว่าตัว ทำให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เสนอขื่อให้ “วาฬบรูด้า” เป็นสัตว์สงวนและมีการประกาศในปี 2562 โดยวาฬบรูด้า ถือเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล ช่วยทำให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล รวมถึงเมื่อสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและประเทศ จากการท่องเที่ยวชมวาฬบรูด้าได้ด้วย

2.จำนวนวาฬบรูด้าในประเทศไทย
ที่พบในอ่าวไทยตอนบนมีกว่า 50 ตัว ก็มีการตั้งชื่อในทุกตัว ที่มาของชื่อคือสถานที่ที่พบครั้งแรก หรือเดือนที่พบ เช่น เจ้าบางแสน เจ้าสามมุข แม่สาคร และ แม่เพชร เป็นต้น ส่วนการตั้งชื่อตามเดือน เช่น เจ้าเมษา เจ้าสิงหา และ เจ้าธันวา เป็นต้น ซึ่งชื่อใหม่ก็จะตั้งชื่อให้สอดคล้องกับชื่อแม่ๆ หรือชื่อพี่ๆ ที่พบเห็นวาฬตัวนั้นในครั้งแรกมาก่อนหน้านี้ หากเป็นเพศเมีย จะเรียกว่า “แม่+ชื่อ” ส่วนที่ไม่สามารถระบุเพศได้ จะเรียกว่า “เจ้า+ชื่อ” ส่วนจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นเพศใด มาจากการสังเกตุตัวที่กำลังเลี้ยงลูกอยู่จะเป็นเพศเมีย ส่วนตัวที่หากินอยู่เพียงตัวเดียว จะไม่สามารถระบุเพศได้
3.การจำแนกแต่ละตัวเพื่อตั้งชื่อได้
ข้อนี้มาจากการใช้ภาพถ่ายเพื่อระบุอัตลักษณ์ของแต่ละตัว (Photo-ID โดยการถ่ายภาพ เพื่อดูตำหนิบริเวณครีบหลัง ลายขอบปาก จุดใต้คาง แผลเป็น ตุ่มนูน หรือตำหนิต่างๆ บนร่างกายของ วาฬบรูด้า ทำให้จำแนกแต่ละตัวได้ โดยวาฬเมื่อโตเต็มตัวจะมีขนาดยาว 14-15 เมตร น้ำหนัก 12-20 ตันเลยทีเดียว

4.การพบวาฬบรูด้า
ส่วนใหญ่ วาฬบรูด้า จะอยู่ทั้งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ซึ่งในฝั่งอันดามันจะพบเข้ามาหาอาหาร ในบริเวณเกาะสุรินทร์ จ.พังงา และเกาะพระทอง เกาะราชาน้อย-ราชาใหญ่ จ.ภูเก็ต เป็นต้น ส่วนในอ่าวไทย จะพบทั้งใน จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กทม. สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ไปจนถึง ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี เลยทีเดียว
5.ช่วงเวลาที่พบวาฬบูรด้าบ่อยที่สุด
จะอยู่ระหว่างเมษายน-กันยายน นับเป็นช่วงที่มีปลากะตักและกุ้ง อุดมสมบูรณ์ แต่เป็นช่วงฤดูมรสุมทำให้การนั่งเรือออกไปชมไม่สะดวก ส่วนในช่วงฤดูหนาว ช่วงปลายเดือนกันยายน ต้นเดือนธันวาคม ที่ท้องฟ้าจะสดใส ทำให้สามารถเดินเรือได้ตามปกติ จึงเหมาะกับการออกไปชมวาฬบรูด้า และมีการจัดเทศกาลชมวาฬบรูด้า จัดขึ้นที่จังหวัดเพชรบุรีเป็นประจำ สำหรับพื้นที่มีโอกาสพบวาฬบรูด้า ได้บ่อยตั้งแต่เดือน สิงหาคม-พฤศจิกายน บริเวณชายฝั่งอ่าวไทยรูปตัว ก หรืออ่าวไทยตอนบน ระยะห่างจากฝั่ง 2-10 กิโลเมตร ซึ่งตามข้อมูลคือวาฬบรูด้าจะอยู่ในอ่าวไทยตอนบนเดือน เมษายน จนถึงเดือนธันวาคม สามารถออกลูกได้ทั้งปี ส่วนอ่าวไทยตอนกลางเดือน จะอยู่ในช่วงเดือนมกราคม จนถึง กันยายน

6.แนวทางการท่องเที่ยวชมวาฬบรูด้า
ได้มีกำหนดสิ่งที่ควรทำไว้ คือ ลดความเร็วเรือ ลดเสียงให้เบา เข้าชมได้ครั้งละไม่เกิน 3 ลำ โดยเข้าหาจากด้านข้าง ไม่ควรแล่นเรือขวางหรือไล่ตามวาฬ และห้ามให้อาหาร รวมถึง ไม่ว่ายน้ำเล่นกับวาฬ เพื่อสร้างความยั่งยืนการท่องเที่ยว และหากเพื่อนที่สนใจ ก็มีภาคเอกชนจัดโปรแกรมท่องเที่ยวชม วาฬบรูด้าไว้ด้วย
7.สัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
เพื่อป้องกันการสูญพันธุ์ต้องร่วมมือกันดูแลและรักษา เนื่องจากวาฬบรูด้าที่พบในปัจจุบันมีประมาณ 50 ตัว และอยู่ในสถานภาพสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ได้ เพราะมีภัยคุกคามต่างๆ เช่น การไม่ร่วมอนุรักษ์ดูแลทั้งวาฬ และการดูแลธรรมชาติ ซึ่งหากวาฬบรูด้า หายไปจากพื้นที่ ก็สะท้อนถึงสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมในพื้นที่

8.มารู้จักกับสัตว์สงวนในทะเลไทย
ที่ประกาศตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มีด้วยกัน 5 ชนิด ประกอบด้วย พะยูน วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ ปลาฉลามวาฬ และเต่ามะเฟือง ดังนั้น เราควรดูแลรักษาสัตว์เหล่านี้ให้มากๆ เพราะสัตว์สงวนมีความสำคัญอย่างมากต่อระบบนิเวศทางทะเล ด้วยการร่วมปกป้อง คุ้มครอง และร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลให้คงต่ออยู่ต่อไป
สำหรับเพื่อนๆ คนไหนที่ยังไม่ได้ดูภาพสวยๆ ของวาฬบรูด้า ที่มีฉากหลังเป็นตึกสูงของกรุงเทพฯ สามารถเข้าไปดูได้ที่ เฟซบุ๊ค https://www.facebook.com/jirayuwildlife/ ซึ่งถ่ายภาพโดยช่างภาพมืออาชีพอย่าง ‘จิรายุ เอกกุล’ ซึ่งนอกจากจะเป็นช่วงภาพแล้วคุณจิรายุ ยังเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทนำเที่ยวเชิงอนุรักษ์ Wild Encounter Thailand อีกด้วย

“วาฬบรูด้า” ถือเป็นสัตว์ทะเลที่อยู่คู่ประเทศไทยมาอย่างยาวนาน สามย่านมิตรทาวน์ อยากชวนเพื่อนๆ ให้ร่วมอนุรักษ์ให้อยู่คู่กับประเทศไทยต่อไป ด้วยการร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม ดูแลการจัดเก็บขยะ และไม่ทิ้งน้ำเสียลงไปในแม่น้ำคูคลอง เพื่อไม่ให้สิ่งปฏิกูลดังกล่าวเกิดการหลุดออกไปในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำอื่นๆ หากเราทำได้เราก็จะได้เห็นวาฬบรูด้า และสัตว์อื่นๆ ทางทะเลอออกมาโชว์ตัวอีกแน่นอน
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : หนังสือ มูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ของวาฬบรูด้า คุณค่าที่ต้องเข้าใจ ,ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเฟซบุ๊คของ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง