ช่วงที่ผ่านมาประเด็นข่าวในโลกออนไลน์เกี่ยวกับการรับเช็คถือว่ามีความร้อนแรงมากพอสมควร และเชื่อว่าเพื่อนๆ หลายคนน่าจะติดตามข่าวกันไปเรียบร้อยแล้ว และสิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์จากการเสพข่าวสารในยุคปัจจุบัน นั่นก็คือ การหาความรู้ที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร? เพื่อเราจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของบรรดาเฟคนิวส์ทั้งหลาย หรือรับรู้ข้อมูลข่าวสารมาแบบผิดๆ และเพื่อให้เพื่อนมีความเข้าใจเกี๋ยวกับ “เช็ค” มากขึ้น วันนี้ สามย่านมิตรทาวน์ มีความรู้ดีๆ เกี่ยวกับ เช็ค มาให้เพื่อนๆ ได้รับรู้ไว้เป็นข้อมูล แม้ว่าในชีวิตประจำวันเราอาจจะไม่ค่อยได้รับเช็คกันมากนัก แต่หากเกิดวันไหน มีคนสั่งจ่ายเช็คให้เรามา เราจะได้มีความรู้และมีความเข้าใจ เกี่ยวกับวิธีการใช้เช็ค

เช็ค คือ อะไร
เช็ค (Cheqe) คือ เอกสารในรูปแบบของตราสาร ซึ่ง “ผู้สั่งจ่าย” สั่ง “ธนาคาร” ให้ใช้เงินจำนวนหนึ่ง (ตามที่ระบุในเช็ค) ให้กับบุคคลหนึ่ง ที่มีชื่อหรือเป็นผู้ถือเช็คนั้น ที่เรียกว่า “ผู้รับเงิน”
ประเภทของเช็ค
1.เช็คบุคคลธรรมดา คือ เช็คที่บุคคลธรรมดาเป็นผู้สั่งจ่ายเงินตามเช็ค
2.เช็คนิติบุคคล คือ เช็คที่องค์กร/บริษัทเป็นผู้สั่งจ่ายเงินตามเช็ค
3.แคชเชียร์เช็ค คือ เช็คที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่ายเงินตามเช็ค และระบุชื่อผู้รับเงินอย่างชัดเจน ลูกค้าจะเสียค่าธรรมเนียมการซื้อแคชเชียร์เช็คฉบับละ 20 บาท ส่วนใหญ่ผู้รับเงินนิยมนำไปขึ้นเงินภายในจังหวัดเดียวกัน เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการเรียกเก็บ แต่หากนำไปขึ้นเงินในจังหวัดอื่นที่ไม่ใช่จังหวัดเดียวกับสาขาธนาคารที่ออกเช็คอาจจะต้องเสียค่าธรรมเนียมการเรียกเก็บเช็ค เช่น หมื่นละ 10 บาทของจำนวนเงินตามเช็ค

4.เช็คของขวัญ จะมีลักษณะเช่นเดียวกับแคชเชียร์เช็ค ส่วนใหญ่นิยมมอบให้แก่ผู้รับในโอกาสพิเศษ
5.ดราฟต์ จะมีข้อแตกต่างจากแคชเชียร์เช็คและเช็คของขวัญ กล่าวคือ ผู้ซื้อดราฟต์ต้องเสียค่าธรรมเนียมการซื้อตามราคาบนหน้าดราฟต์ เช่น หมื่นแรก 10 บาท หมื่นต่อไป
หมื่นละ 5 บาท (ขั้นต่ำ 10 – 20 บาท สูงสุด 1,000 บาท) แต่ผู้รับเงินไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเมื่อนำไปขึ้นเงินในจังหวัดที่ไม่ใช่จังหวัดเดียวกับสาขาที่ออกดราฟต์
6.เช็คขีดคร่อม คือ เช็คที่ผู้รับเงินต้องนำฝากเช็คเข้าบัญชีก่อนที่จะเบิกเป็นเงินสดเท่านั้น โดยเช็คขีดคร่อมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1.เช็คขีดคร่อมทั่วไป เช็คขีดคร่อมทั่วไป ผู้รับเงินต้องนำเช็คฝากเข้าบัญชีเท่านั้น โดยสามารถนำฝากเข้าบัญชีของธนาคารใดก็ได้
2.เช็คขีดคร่อมเฉพาะ เป็นเช็คที่ระบุชื่อธนาคารไว้ภายในเส้นขนาน และผู้รับเงินจะต้องนำเช็คฝากเข้าบัญชีธนาคารตามที่ระบุไว้เท่านั้น

7.องค์ประกอบเช็คที่ต้องเช็คให้ครบก่อนขึ้นเงิน
หลังจากได้รับเช็คมาแล้ว ผู้รับต้องตรวจดูว่ามีความถูกต้อง ครบถ้วน และสมบูรณ์ของเช็คหรือไม่ เพราะไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถขึ้นเงินได้ ซึ่งองค์ประกอบสำคัญของเช็คประกอบด้วย
1.มีคำบอกชื่อว่าเป็นเช็ค หมายถึง หลักฐานที่แสดงว่ากระดาษแผ่นนี้เป็นเช็คของธนาคารจริง ๆ เช่น มีตัวหนังสือระบุว่าเป็นเช็คเลขที่ 956351 เป็นต้น
2.คำสั่งซึ่งให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอนโดยไม่มีเงื่อนไขในการใช้เงิน นั่นหมายถึง จำนวนเงินที่เขียนหรือพิมพ์เป็นทั้งตัวเลขและตัวหนังสือนั่นเอง
3.ชื่อหรือยี่ห้อของสำนักธนาคาร
4.ชื่อหรือบริษัทของผู้รับเงิน
5.ลายมือชื่อ (ลายเซ็น) ของผู้สั่งจ่ายสถานที่ใช้เงิน
6.สถานที่ออกเช็ค
7.วัน เดือน ปี

สำหรับความสมบูรณ์ของเช็คตามที่กฎหมายระบุไว้ก็คือจะต้องมีการเขียนหรือพิมพ์กรอกในรายละเอียด ตั้งแต่ข้อที่ 1 – 5 ครบถูกต้องสมบูรณ์ทุกข้อห้ามผิดพลาดโดยเด็ดขาด มิเช่นนั้นเช็คใบดังกล่าวจะเสียและถือว่าเป็นโมฆะทางกฎหมายโดยทันที ส่วนข้อที่ 6 นั้นสามารถเว้นว่างเอาไว้ได้โดยกฎหมายจะให้ถือว่าเป็นเช็คออก ณ ที่อยู่ (ภูมิลำเนา) ของผู้สั่งจ่าย ส่วนข้อที่ 7 วัน เดือน และปีนั้นถ้าเว้นว่างเอาไว้ไม่ได้กรอกรายละเอียดก็ไม่เป็นอะไรและยังถือว่าเช็คฉบับดังกล่าวยังมีผลทางกฎหมายอยู่ เพียงแต่จะยังไม่ได้รับเงินเท่านั้นเนื่องจากไม่ได้ระบุวันที่สำหรับการขึ้นเงินเอาไว้นั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม ข้อควรระวังในการขึ้นเช็ค ต้องดูวัน เดือน ปีให้ชัดเจน เพราะเช็คจะมีอายุไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่สั่งจ่ายบนหน้าเช็ค
ความรู้เกี่ยวกับเช็ค ยังมีอีกมากมาย ซึ่งหากใครมีข้อสงสัยเพิ่มเติม ลองสอบถามธนาคารใกล้บ้านเพื่อนๆ ได้ เพราะรายละเอียดมีค่อนข้างเยอะ ซึ่งธนาคารจะสามารถตอบข้อสงสัยให้เพื่อนๆ ได้ทั้งหมด

ขอขอบคุณข้อมูล : ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ,เว็บไซต์ myaccout