Friday, March 24, 2023
Advertising call 02-033-8900 ext. 8819spot_img

แนวทางดูแลลูกน้อย เมื่อพบติดเชื้อไวรัสโควิด-19

“เด็ก” ถือเป็นเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเสี่ยงที่มองข้ามไม่ได้เลย สำหรับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากปัจจุบันมีจำนวนเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี ซึ่งจากข้อมูลของ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เด็ก (อายุ 0-18 ปี) ตั้งแต่มีการระบาด ระลอกใหม่ 1 เม.ย. -28 ก.ค. 2564 มีเด็กติดเชื้อ สะสม 57,273 ราย นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มเด็กและวัยรุ่นอายุ ​12​-18 ปี​ ก็มีการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดย​ในสัปดาห์​แรกของเดือน ส.ค. 2564 มีเด็กติดเชื้อจำนวน​ 7,787 คน ​ขณะที่ในสัปดาห์ที่ 2 ​มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 8,733 คน​ คิดเป็น 12% ซึ่งจากแนวโน้มที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเด็ก

เช่นเดียวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ที่จะมุ่งเน้นไปในกลุ่มเด็กที่มีโรคประจําตัวก่อน ได้แก่ โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โรคเบาหวาน และกลุ่มโรคพันธุกรรม รวมไปถึงกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง และเด็กที่มีพัฒนาการช้า โดยวัคซีนที่สามารถใช้ได้ในเด็ก ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย แนะนำว่า จะต้องเป็นวัคซีนชนิด mRNA และที่มีใช้ในขณะนี้ คือวัคซีนของ Pfizer-BioNTech ก่อนไปรับบริการให้สอบถาม และประสานนัดหมายกับสถานพยาบาล หรือโรงพยาบาล ที่ประกาศให้บริการในพื้นที่นั้นๆ

อาการของโรคโควิด-19 ในเด็กมีอะไรบ้าง?
หลังจากเด็กได้รับเชื้อโควิด-19 แล้ว สามารถมีอาการได้หลากหลายตั้งแต่ ไม่มีอาการเลย จนถึงปอดอักเสบรุนแรง หรือเสียชีวิต ซึ่งในระยะฟักตัวของโรคก็จะอยู่ใกล้เคียงกับผู้ใหญ่คือ ประมาณ 14 วัน โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการของโรคประมาณ 4-5 วัน หลังสัมผัสโรค เด็ก ซึ่งส่วนใหญ่มักติดเชื้อจากการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ใหญ่ในบ้านที่มีการติดเชื้อหรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19 โดยหลังจากรับเชื้อแล้วอาการส่วนใหญ่ที่พบ คือ มีไข้ ไอแห้งๆ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย คัดจมูก น้ำมูกไหล จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หรือผื่นตามผิวหนัง นอกจากนี้ อาจมีท้องเสีย หรือปวดท้อง

โรคโควิด-19 ในเด็กมีอาการรุนแรงหรือไม่?
เด็กที่ติดเชื้อส่วนใหญ่กว่า 90% มีอาการไม่รุนแรง อาการที่พบมีเพียงเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ ปวดกล้ามเนื้อ มีเพียง 5% เท่านั้นที่มีอาการรุนแรงหรือวิกฤติ เช่น ปอดอักเสบรุนแรง ระบบหายใจ หรือระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว รวมถึงภาวะอักเสบหลายระบบในเด็ก ส่วนภาวะแทรกซ้อนก็พบได้น้อยเช่นกัน โดยส่วนใหญ่ที่พบมักเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ปี และเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต โรคปอดเรื้อรัง หรือภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

หากน้องสัมผัสผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19 ควรทำอย่างไร?
หากน้องใส่อุปกรณ์ป้องกันตนเองและเว้นระยะห่างอย่างเหมาะสมแล้ว รวมถึงไม่ได้สัมผัสสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจของผู้ป่วยโรคโควิด-19 น้องควรหยุดเรียนและแยกตัวจากเด็กคนอื่นเป็นระยะเวลา 14 วัน ในระหว่างนั้นวัดอุณหภูมิร่างกายวันละ 1-2 ครั้ง สังเกตอาการทางเดินหายใจ เช่น ไข้ ไอ สวมหน้ากากอนามัยและล้างมืออย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกันและแยกสำรับอาหาร รวมถึงงดไปแหล่งชุมชน อย่างไรก็ดี หากน้องมีอาการผิดปกติหรือต้องการสอบถามเพิ่มเติมสามารถปรึกษาคุณหมอที่ให้การดูแลรักษาได้เลย

แนวทางดูแลเมื่อเด็กติดโควิด-19
1.กรณีต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล

1.1 กรณีเด็กและผู้ปกครองเป็นผู้ติดเชื้อ ให้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลร่วมกันกับผู้ปกครอง โดยเน้นให้จัดอยู่เป็นกลุ่มครอบครัว ไม่ควรแยกเด็กเล็กออกจากผู้ปกครอง

1.2 กรณีเด็กเป็นผู้ติดเชื้อแต่ผู้ปกครองไม่เป็นผู้ติดเชื้อ ให้เด็กเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลโดยมีผู้ดูแลที่ไม่มีโรคประจำตัว และอายุไม่เกิน 60 ปีเข้าดูแลเด็กด้วย หากเป็นโรงพยาบาลสนาม ควรขอจัดพื้นที่ให้เด็กและผู้ปกครองเป็นการเฉพาะ โดยแยกจากผู้ติดเชื้ออื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะสัมผัสเชื้อโรคได้

2.กรณีเฝ้าสังเกตอาการที่บ้าน (Home Isolation)
ควรอุปกรณ์เพื่อใช้ติดตามอาการ และบรรเทาอาการเด็กที่บ้าน เช่น ปรอทวัดไข้ ที่วัดออกซิเจนปลายนิ้ว อุปกรณ์ที่สามารถถ่ายภาพ หรือ คลิปวิดีโออาการของเด็กได้ ยาสามัญประจำบ้านเพื่อบรรเทาอาการ ได้แก่ ยาลดไข้ (พาราเซตามอล) ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก และเกลือแร่ รวมไปถึงต้องหมั่นสังเกตอาการโดยรวมของเด็กอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยระดับอาการของเด็กแบ่งเป็น 2 แบบ คือ

2.1 อาการในระดับที่สามารถเฝ้าสังเกตอาการที่บ้านต่อไปได้ คือ มีไข้ต่ำ มีน้ำมูก มีอาการไอเล็กน้อย ไม่มีอาการหอบเหนื่อย ถ่ายเหลว ยังคงกินอาหาร หรือนมได้ปกติ ไม่ซึม

2.2 อาการในระดับที่ผู้ปกครองควรติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อนำเด็กส่งโรงพยาบาล คือ ไข้สูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส หายใจหอบเร็วกว่าปกติ ใช้แรงในการหายใจมาก อกบุ๋ม ปีกจมูกบานตอนหายใจ ปากเขียว ระดับออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 95% ซึมลง งอแง ไม่ดูดนม ไม่กินอาหาร ควรติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อนำเด็กส่งโรงพยาบาล ที่เบอร์สายด่วน โทร 1668 / 1669 หรือ 1330 หรือติดต่อสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ทาง Line ด้วยการเพิ่มเพื่อน COVID QSNICH ที่ Line id : @080hcijL นอกจากนี้ ควรลงทะเบียนข้อมูลให้ครบถ้วน หลังจากนั้นให้รอเจ้าหน้าที่ของสถาบันติดต่อกลับภายใน 24 ชม. หรือโทรสอบถามที่เบอร์ 1415

ป้องกันการติดเชื้อและแพร่เชื้อโควิด-19 ในเด็กได้อย่างไรบ้าง?
1.สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ยกเว้นในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ปี
2.ล้างมือบ่อยๆ ด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือหากเห็นว่ามือสกปรกก็ควรล้างด้วยน้ำกับสบู่เป็นระยะเวลา 20 วินาที
3.เวลาไอ จาม ควรใช้ทิชชูปิดปากและจมูก หลังจากนั้นนำไปทิ้งในถังขยะที่มีฝาปิด ถ้าไม่มีทิชชูให้ใช้ข้อศอกและต้นแขนด้านในแทน หลังจากนั้นล้างมือให้สะอาด
4.เว้นระยะห่างทางสังคม อย่างน้อย 1-2 เมตร
5.หลีกเลี่ยงการสัมผัสตา จมูก และปาก หากยังไม่ได้ล้างมือ
6.หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน
7.หลีกเลี่ยงใกล้ชิดกับคนที่มีอาการป่วย
8.งดหอมแก้มหรือสัมผัสใกล้ชิดกับเด็กโดยไม่จำเป็น
9.แม้น้องจะเคยติดเชื้อโควิด-19 มาแล้ว ก็ควรป้องการติดเชื้อและแพร่เชื้อโควิด-19 ด้วยเช่นกัน

เพื่อนๆคนไหนที่มีน้องๆอยู่ภายในบ้าน อย่าลืมความสำคัญแนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุขกับน้องๆ และทุกคนในครอบครัวนะคะ จะได้ปลอดโรคปลอดภัยกันทั้งครอบครัว

ขอบคุณข้อมูลจาก : .thaipbs , โรงพยาบาลศครินทร์ ,กรุงเทพธุรกิจ

- Advertisment -

“SAMYAN MITRTOWN 3RD ANNIVERSARY มิตรเดย์ มิตรเลิฟ เฟสติวัล ”

ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายแคมเปญ “SAMYAN MITRTOWN...