วันสันติภาพไทย เป็นวันที่รำลึกถึงวีรกรรมกู้ชาติของขบวนการเสรีไทย เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงปี พ.ศ. 2484-2488 จนกระทั่งมีพระบรมราชองค์การ “ประกาศสันติภาพ” เพื่อนำสันติภาพกลับคืนสู่ประเทศไทย ซึ่งย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) ได้ออกประกาศสันติภาพพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ให้การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา บริเตนใหญ่ ถือเป็นโมฆะ หรือเรียกได้ว่าเป็นการประกาศเอกราชอธิปไตย แสดงจุดยืนแห่งความเป็นกลาง มีอิสรภาพ โดยมี นายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นับเป็นช่วงเวลาการทำสงครามที่ดุเดือด และร้ายแรง เนื่องจากมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากการทำสงครามในครั้งนี้กว่า 18 ล้านคนทั่วโลก แม้ประเทศไทยจะไม่ได้เป็นผู้จุดชนวนสงคราม แต่ก็ถูกดึงเข้าไปร่วมอยู่ในวิกฤตการณ์สงครามครั้งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากในวันนั้นไม่มีกลุ่ม “ขบวนการเสรีไทย” ซึ่งนำโดย นายปรีดี พนมยงค์ ผู้เป็นแกนนำหลัก ที่ได้ออกมาต่อสู้ กอบกู้รักษาเอกราชอย่างไม่ท้อถอย ภายใต้อุดมการณ์รักษาเอกราชอธิปไตยของประเทศไทย
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณูปการคุณงามความดีของขบวนการเสรีไทย ชนรุ่นหลังจึงได้ถือเอาวันประกาศอิสรภาพดังกล่าวจารึกเป็น “วันสันติภาพไทย” โดยจะมีการจัดงานฉลองเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวในวันที่ 16 สิงหาคม ของทุกปี