ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเสี่ยงสำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ต้องใช้ชีวิตในยุคโควิด-19 เพราะจากข้อมูลของกรมอนามัยตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2563 – 11 ส.ค. 2564 พบว่า มีหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้วประมาณ 1,993 ราย เป็นคนไทย 1,315 ราย ต่างด้าว 678 ราย และเสียชีวิต 37 ราย เนื่องจากโควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสชนิดใหม่ และยังไม่มีข้อมูลว่าหญิงตั้งครรภ์มีโอกาสติดเชื้อโควิด -19 มากกว่าคนทั่วไปหรือไม่ ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์ จึงควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ

เพื่อนๆ คนไหนที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ก็ไม่ต้องกังวลไปนะคะ เพราะปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ไขเสมอ และเพื่อให้เพื่อนๆ ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือคลอดน้องแล้วได้รู้ถึงวิธีการดูแลตัวเอง วันนี้ สามย่านมิตรทาวน์ มีข้อมูลจากกรมอนามัยมาฝาก
เริ่มจากการดูแลหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด กลุ่มปกติ หรือกลุ่มที่ไม่ติดเชื้อ โดยใช้หลักการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้ออย่างเคร่งครัด ดังนี้
1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดผู้ที่มีอาการไอ เป็นไข้ หรือผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง และในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด หรือรวมกลุ่มกันจำนวนมาก
2.รักษาระยะห่าง ในการอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นด้วยการอยู่ห่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร
3.หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสบริเวณดวงตา ปาก และจมูก
4.รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่เสมอ หรือปรุงอาหารให้สุกร้อนทั่วถึง
5.แยกภาชนะรับประทานอาหารและงดใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
6.ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาดนานอย่างน้อย 20 วินาที ทุกครั้งที่มีการไอจาม สัมผัสสิ่งแปลกปลอม ก่อน
รับประทานอาหาร หรือออกจากห้องน้ำ หากไม่มีสบู่ ให้ใช้ 70% alcohol gel
7.ในขณะไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ถ้ามีอาการไอ จาม ให้ใช้ต้นแขนด้านบนปิดปากทุกครั้ง
8.แม่ทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหรือมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หากมีอาการป่วย เล็กน้อย ควรพักผ่อนอยู่ที่บ้าน ถ้ามีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หายใจเหนื่อย ควรรีบไปพบแพทย์
9.หญิงตั้งครรภ์สามารถฝากครรภ์ได้ตามนัด

นอกจากนี้ การดูแลหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง สำหรับผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง หรือสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด -19 ควรปฏิบัติตัว ดังนี้
1.แยกตนเองออกจากครอบครัวและสังเกตอาการจนครบ 14 วัน งดการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
2.งดการออกไปในที่ชุมชนสาธารณะโดยไม่จําเป็น และงดการพูดคุย หรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่นในระยะใกล้กว่า 2 เมตร
3.กรณีครบกำหนดนัดฝากครรภ์ ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบว่าตนเองอยู่ระหว่างการเฝ้าระวัง 14 วัน เพื่อพิจารณาเลื่อนการฝากครรภ์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่
4.กรณีเจ็บครรภ์คลอดต้องไปโรงพยาบาลทันที และแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบว่าตนเองตนเองอยู่ระหว่างการเฝ้าระวัง 14 วัน
ส่วนการดูแลทารกแรกเกิด ในกรณีแม่เป็นผู้ที่สงสัยติดเชื้อหรือติดเชื้อโควิด -19 ควรปฏิบัติ ดังนี้
1.ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานการติดต่อผ่านทางรกหรือผ่านทางน้ำนม
2.ทารกที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อโควิด -19 จัดเป็นผู้มีความเสี่ยง จะต้องมีการแยกตัวออกจากทารกอื่น และต้องสังเกตอาการ เป็นเวลา 14 วัน
3.บุคลากรทางแพทย์ควรอธิบายถึงความเสี่ยง ความจำเป็นและประโยชน์ของการแยกแม่-ลูก และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ให้แม่เข้าใจและเป็นผู้ตัดสินใจเอง
4.แนวทางการปฏิบัติในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการในการแพร่เชื้อไวรัส
ผ่านทางน้ำนม ดังนั้น ทารกจึงสามารถกินนมแม่ได้ โดยปฏิบัติตามแนวทางป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ดี ข้อแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับแม่ ในกรณีแม่เป็นผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อ หรือแม่ที่ติดเชื้อโควิด -19 แล้ว
1.กรณีแม่เป็นผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อ หรือแม่ที่ติดเชื้อ COVID-19 แต่อาการไม่มาก สามารถกอดลูกและให้นมจากเต้าได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแม่และครอบครัว พร้อมกับต้องปฏิบัติตามแนวทางป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด
2.กรณีแม่ที่ติดเชื้อโควิด -19 และมีอาการรุนแรง หากยังสามารถบีบน้ำนมได้ ให้ใช้วิธีบีบน้ำนม และให้ผู้ช่วยเป็นผู้ป้อนนมแก่ลูก หากไม่สามารถบีบน้ำนมเองได้อาจพิจารณาใช้นมผงแทน
ข้อปฏิบัติในกรณีให้ทารกกินนมจากเต้า
1.อาบน้ำหรือเช็ดทำความสะอาดบริเวณเต้านมและหัวนมด้วยน้ำและสบู่
2.ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและ สบู่ นานอย่างน้อย 20 วินาที หรือแอลกอฮอล์เข้มข้น 70% ขึ้นไป
3.สวมหน้ากากอนามัย ตลอดเวลาทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับการให้นมลูก
4.งดการสัมผัสบริเวณใบหน้าของตนเองและทารก เช่น การหอมแก้มทารก

ข้อปฏิบัติในการบีบน้ำนม และการป้อนนม
1.อาบน้ำหรือเช็ดทำความสะอาดบริเวณเต้านมและหัวนมด้วยน้ำและสบู่
2.ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและ สบู่ นานอย่างน้อย 20 วินาที หรือแอลกอฮอล์เข้มข้น 70%ขึ้นไป
3.สวมหน้ากากอนามัย ตลอดการทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเตรียมนม การบีบน้ำนม และการให้นม
4.งดการสัมผัสบริเวณใบหน้าของตนเองและทารก เช่น การหอมแก้มทารก
5.หาผู้ช่วยเหลือหรือญาติที่มีสุขภาพแข็งแรงที่ทราบวิธีการป้อนนมที่ถูกต้องและปฏิบัติตามวิธีการป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด โดยวิธีการนำน้ำนมแม่มาป้อนด้วยการใช้ช้อน หรือถ้วยเล็ก
6.ล้างทำความสะอาดอุปกรณ์เช่น ที่ปั้มนม ขวดนม ด้วยน้ำยาล้างอุปกรณ์และทำการนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อหลังเสร็จสิ้นกิจกรรม
เพื่อนๆ คนไหนที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ก็อย่าลืมปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัดนะคะ เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข