Wednesday, March 22, 2023
Advertising call 02-033-8900 ext. 8819spot_img

ดัชนีความเชื่อมั่นค้าปลีกไทยเดือนก.ค. 2564 ติดลบ 70%

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เผยสถานการณ์ค้าปลีกวิกฤตหนัก ดัชนีความเชื่อมั่นเดือนกรกฏาคม 2564 ติดลบสูงถึง 70% ดิ่งต่ำสุดในรอบ 16 เดือน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 2.7 แสนล้านบาท เนื่องจากกว่า 100,000 ร้านค้า ส่อเค้าเตรียมปิดกิจการภายหลังได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นค้าปลีกในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาน่าเป็นห่วงอย่างมาก เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้ามีความรุนแรงมากกว่าระลอกแรก นอกจากนี้มาตรการล็อคดาวน์และเคอร์ฟิวที่เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม มีการขยายจังหวัดคุมเข้มสูงสุดเป็น 29 จังหวัด ส่งผลให้ภาคค้าปลีกต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัว ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ประมาณกลางปี 2566 เนื่องจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก Retail Sentiment Index (RSI) อยู่ที่ระดับ 16.4 ลดต่ำสุดในรอบ 16 เดือน หรือคิดเป็นความเชื่อมั่นติดลบ 70%

ปัจจัยที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนกรกฎาคมปรับตัวลดลง สาเหตุหลักเกิดจากการที่ยอดขายสาขาเดิม หรือ Same Store Sale Growth (SSSG) ทั้งในส่วนของยอดใช้จ่ายต่อบิล หรือ Spending Per Bill และยอดซื้อต่อครั้ง หรือ Per Basket Size รวมไปถึงความถี่ในการจับจ่าย หรือ Frequency on Shopping มีการปรับตัวลดลงพร้อมกัน ซึ่งจากแนวโน้มที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้สมาคมผู้ค้าปลีกไทยมีการคาดการณ์ว่า ภาคการค้าปลีก และบริการครึ่งปีหลังนี้จะทรุดหนัก และส่งผลให้ภาพรวมทั้งปีมีอัตราการเติบโตติดลบ

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก RSI ในอีก 3 เดือนข้างหน้า คาดว่าจะยืนอยู่ที่ระดับ 27.6 ต่ำกว่าดัชนีเดือนเมษายนปี 2563 ที่ยืนยู่ที่ระดับ 32.1 สะท้อนให้เห็นถึง ความวิตกกังวลในความไม่ชัดเจนต่อแนวทางการกระจายการฉีดวัคซีนที่ภาครัฐยังมีความล่าช้า และมาตรการเยียวยาที่ไม่เข้มข้นมากพอ รวมทั้งการกระตุ้นกำลังซื้อที่ภาครัฐประกาศจะอัดฉีดเพิ่มยังไม่ตรงกับเป้าหมายที่วางไว้

นอกจากนี้ ยังมีดัชนีความเชื่อมั่นที่น่าสนใจอีก 2 ประเด็น คือ 1.ดัชนีความเชื่อมั่น RSI แยกตามภูมิภาค ที่พบว่า ลดลงต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 อย่างต่อเนื่องใน ทุกภูมิภาค เป็นผลจากการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะภาคกลาง ที่ลดลงอย่างชัดเจนมากกว่าภาคอื่นๆ เนื่องจากภาคกลางมีคลัสเตอร์การแพร่ระบาดในกลุ่มผู้ใช้แรงงานในโรงงานเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นใน 3 เดือน ข้างหน้า ก็ลดลงในทุกภูมิภาคอย่างชัดเจน แต่ก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 ค่อนข้างมาก สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการประเมินการแพร่ระบาดโควิด-19 ในครั้งนี้ว่า น่าจะมีความยืดเยื้อไม่จบง่ายๆ ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคมีความอ่อนแอ จึงทำให้การฟื้นตัวต้องใช้เวลานาน

2.ดัชนีความเชื่อมั่น RSI แยกตามประเภทร้านค้าปลีก ซึ่งจากผลการสำรวจพบว่า ดัชนีปรับลดลงอย่างชัดเจน และต่ำลงในทุกประเภท โดยเฉพาะร้านค้าปลีกประเภทห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกประเภทร้านอาหารได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการการล็อคดาวน์ เห็นได้จากยอดขายที่ปรับลดลงกว่า 80-90 % เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน ส่วนร้านค้าประเภทสะดวกซื้อ ก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการที่กำหนดให้ปิดบริการตั้งแต่เวลา 21.00 – 04.00 น ทำให้ยอดขายหายไปกว่า 20 – 25% และจากการที่จำนวนสาขาของร้านสะดวกซื้อกว่า 40% ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่สีแดงเข้มก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ร้านสะดวกซื้อได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ หากประเมินผลกระทบต่อยอดขาย กำลังซื้อ และการจ้างงาน ในมุมมองของผู้ประกอบการต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ระลอกใหม่ ในช่วงเดือนกรกฎาคม พบว่า
1.ผู้ประกอบการกว่า 90% เห็นว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคมีสัญญาณปรับตัวแย่กว่าเดือนมิถุนายนค่อนข้างมากเพราะมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของแผนการฉีดและกระจายวัคซีนของภาครัฐ
2.ผู้ประกอบกว่า 63% ประเมินว่า ยอดการจับจ่ายและการใช้บริการ (Traffic) ลดลงมากกว่า 25% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน และไม่มีพฤติกรรมในการกักตุน Stock Up เพราะกำลังซื้อของประชาชนที่อ่อนตัวลง
3.ผู้ประกอบการ 61% ยอมรับว่าการจับจ่ายและการใช้บริการ (Traffic) ลดลงมากกว่า 25% เป็นผลจากมาตรการเคอร์ฟิว
4.ผู้ประกอบการกว่า 41% มีการปรับลดการจ้างงาน หรือปรับลดชั่วโมงการทำงาน เพราะธุรกิจมียอดขายและ ค่าธรรมเนียนการขายที่ลดลง
5.ผู้ประกอบการ 53% มีสภาพคล่องทางการเงินไม่ถึง 6 เดือน สะท้อนถึงภาวะธุรกิจที่ฝืดเคืองและการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำยังคงเป็นปัญหาที่ต้องการได้รับการแก้ไข
6.ผู้ประกอบการ 42% คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 3 ปี 2564 จะหดตัว 10% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปี 2563
7.ผู้ประกอบการ 90% ประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเข้าสู่ระดับปกติ ในช่วงกลางปี 2566 หรืออาจจะนานกว่านั้น

จากปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้นำ 4 ข้อเสนอ เพื่อขอให้ภาครัฐพิจารณาและให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ดังนี้
1.ภาครัฐต้องมีมาตรการเยียวยานายจ้างช่วยจ่ายค่าเช่า และค่าแรงพนักงาน 50% เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน
2.ภาครัฐต้องช่วยผู้ประกอบการด้วยการลดค่าสาธารณูปโภค 50% เป็นเวลา 6 เดือน
3.ภาครัฐต้องเร่งสถาบันการเงินอนุมัติเงินกู้ Soft Loan ให้ผู้ประกอบการที่ยื่นขอเงินกู้อย่างทั่วถึงและรวดเร็วภายใน 30 วัน (ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติเงินกู้เพียง 10% ของจำนวนที่ยื่นขอสินเชื่อไปแล้วกว่า 3 หมื่นราย) หากการอนุมัติยังล่าช้าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องเลิกกิจการกว่าแสนรายอย่างแน่นอน
4.ขอให้พักชำระหนี้และหยุดคิดดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นลูกหนี้ปัจจุบันกับสถาบันการเงิน

- Advertisment -

“SAMYAN MITRTOWN 3RD ANNIVERSARY มิตรเดย์ มิตรเลิฟ เฟสติวัล ”

ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายแคมเปญ “SAMYAN MITRTOWN...