เชื่อว่าช่วงนี้เพื่อนๆ หลายคนน่าจะคุ้นกับกับคำว่า การแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) กันมาพอสมควร แต่เพื่อนๆ รู้หรือไม่ว่า หากเราต้องเป็นผู้ป่วยโควิด-19 และต้องกักตัวอยู่ที่บ้านจริงๆ เราต้องทำอะไรบ้าง ถ้ายังไม่รู้วันนี้ สามย่านมิตรทาวน์ มีข้อแนะนำการแยกกักตัวที่บ้านมาเล่าให้ฟัง เพื่อให้เพื่อนๆ ได้ทราบข้อมูล และหากเกิดเหตุไม่คาดคิดจะได้เตรียมตัวรับมือได้ทันแบบไม่ต้องตกใจ

ก่อนอื่นเราต้องไปทำความรู้จักระบบการกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ก่อน การแยกกักตัวที่บ้าน คือ การลดความติดขัดของระบบการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนมาก เพื่อให้ระบบบริการสามารถตอบสนองผู้ป่วยเฉพาะหน้า หรือผู้ป่วยที่มีอาการหนักได้มากขึ้น ซึ่งผู้ป่วยที่จะเข้าระบบ Home Isolation ได้จะต้องไม่มีอาการรุนแรง (ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว) หรืออยู่โรงพยาบาลมาแล้วอย่างน้อย 7-14 วัน สามารถกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้ โดยต้องผ่านความยินยอมของหมอและความสมัครใจของผู้ป่วย
สำหรับเพื่อนๆคนไหนที่ซื้อชุดตรวจโควิด-19 มาตรวจด้วยตัวเอง เพื่อให้ผลตรวจได้ผลที่ถูกต้องและปลอดภัย ควรปฏิบัติ ดังนี้
การตรวจด้วยน้ำลาย : ให้งดอาหาร เครื่องดื่ม งดสูบบุหรี่ก่อนตรวจอย่างน้อย 30 นาที และต้องเก็บน้ำลายให้ถึงขีดที่กำหนดบนหลอดเก็บ
การตรวจผ่านโพรงจมูก : ความลึกในการแหย่จมูกให้ดูตามวิธีใช้ของแต่ละยี่ห้อ โดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 2-2.5 เซ็นติเมตร และเมื่อแหย่เข้าไปแล้ว ต้องหมุนไม้ในรูจมูกข้องละไม่ต่ำกว่า 4 รอบ นาน 15 วินาที หลังจากนั้นให้รอผลตรวจจับเวลาประมาณ 15-30 นาที แล้วแต่ยี่ห้อ ห้ามเกินเด็ดขาด

ข้อควรระวังในการตรวจโดยการใช้ชุดตรวจโควิด-19
1.ห้ามใช้ชุดตรวจที่ซองบรรจุชำรุด
2.ตรวจสอบวันหมดอายุก่อนใช้
3.ล้างมือด้วยสบูหรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง ทั้งก่อนและหลังการตรวจ
ขั้นตอนการเข้าสู่ระบบการแยกกักตัวที่บ้าน
1.ใช้ชุดตรวจโควิด-19 (Antigen Test Kit) ซึ่งจะเป็นชุดตรวจชนิดตรวจ ด้วยตัวเองผ่านทางโพรงจมูกหรือน้ำลาย ที่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา(อย.) หรือตรวจจากหน่วยตรวจโควิด-19 เชิงรุก
2.หากผลเป็นบวกหรือติดเชื้อ และผู้ป่วยต้องการแยกักตัวเองอยู่ที่บ้านให้ติดต่อ 1330 หรือกรอกข้อมูล เพื่อลงทะเบียนเข้าระบบของ สปสช.
3.จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ หลังจากจับคู่ผู้ป่วยกับคลินิก ศูนย์การบริการสาธารณสุข หรือโรงพยาบาลที่จะรับหน้าที่ดูแลผู้ป่วยระหว่างแยกกักตัวที่บ้าน
4.แพทย์จะทำการพิจารณาผู้ป่วยอีกครั้ง หากไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย (ผู้ป่วยสีเขียว) จะสามารถเริ่มต้นเข้าสู่ระบบการแยกกักตัวที่บ้านได้

คุณสมบัติของผู้ป่วยโควิด-19 ที่สามารถแยกกักตัวอยู่ที่บ้านได้ คือ
1.ต้องเป็นผู้ป่วยที่เพิ่งตรวจพบเชื้อ แต่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หรือเรียกว่ากลุ่มผู้ป่วยสีเขียว ซึ่งจะมีอาการดังต่อไปนี้ คือ มีไข้ วัดอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 37.5 องศาขั้นไป มีระดับออกซิเจนไม่ต่ำกว่า 96% มีอาการไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ตาแดง มีผื่นขึ้นตามตัว ถ่ายเหลว ไม่มีอาการหายใจเร็ว ไม่มีอาการหายใจเหนื่อย ไม่มีอาการหายใจลำบาก ไม่มีหลอดลมอักเสบ
2.ต้องเป็นผู้ป่วยที่รักษาตัวที่โรงพยาบาลมาแล้วอย่างน้อย 7-10 วัน หากมีอาการดีขึ้น แพทย์จะยินยอมให้ไปกักตัวที่บ้านต่อ
อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม จะต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
1.อายุไม่เกิน 60 ปี
2.พักอาศัยอยู่คนเดียว หรืออยู่ร่วมกับผู้อื่นไม่เกิน 1 คน
3.ไม่เป็นโรคเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรง ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคเบาหวาน ซึ่งทั้งหมดจะขึ้นอยุ่กับดุลยพินิจของแพทย์

หลังจากเข้าระบบแล้วโรงพยาบาลโดยการสนับสนุนของภาครัฐจะจัดเตรียมสิ่งต่างๆ ให้กับผู้ป่วย ดังต่อไปนี้
1.อาหาร 3 มื้อ
2.ปรอทวัดไข้
3.เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว
4.การวิดีโอคอลติดตามอาการจากบุคลากรทางการแพทย์ วันละอย่างน้อย 2 ครั้ง
5.โรงพยาบาลจะทำหน้าที่เตรียมความพร้อมรับกลับมารักษา หากมีอาการแย่ลง
ในด้านของผู้ป่วยเองก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมด้วยสิ่งของเหล่านี้
1.เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ หน้ากากอนามัย ถุงสำหรับขยะติดเชื้อ ทิชชูแห้ง ทิชชูเปียก และน้ำยาฟอกขาวสำหรับทำความสะอาด
2.ยารักษาโรคที่รับประทานเป็นประจำ

ขณะเดียวกันก็ต้องหมั่นตรวจสอบเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วมือ และปรอทวัดไข้ตลอดเวลา เพื่อให้พร้อมใช้งาน
เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วมือ
1.ใส่ถ่านหรือชาร์ตแบตให้เต็ม
2.กดปุ่มเปิดเครื่อง
3.สอดปลายนิ้วมือตามตำแหน่งที่กำหนด
4.หายใจเข้าออกลึกๆ แล้วรอสักพัก จากนั้นค่าที่วัดได้
5.อ่านค่าแะแปลผล โดยตัวเลขบน คือ ค่าระดับออกซิเจนในเลือด มีหน่วยเป็นเปอร์เซ็น ส่วนตัวเลขล่าง คือ ค่าการเต้นของหัวใจ มีหน่วยเป็นครั้งต่อนาที โดยค่าปกติของระดับออกซิเจนที่วัดได้ต้องอยู่ที่ 96-100% หากต่ำกว่านั้นให้รีบติดต่อแพทย์
ปรอทวัดไข้
1.สอดหัวสีเงินเข้าไปในรักแร้ หรือข้อพับแขนหนีบ ทิ้งไว้ 2-3 นาที
2.อมปรทไว้ใต้ลิ้นนาน 3 นาที (ไม่ควรดื่มน้ำร้อน หรือน้ำเย็นก่อนวัด 10-15 นาที)
3.หากมีไข้เกิน 37.5 องศาเซลเซียส ให้พักผ่อนมากๆ ดื่มน้ำให้เพียงพอ กินยาลดไข้ แต่ถ้าไม่ดีขึ้นให้รีบติดต่อแพทย์

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เข้าระบบ Home Isolation ยังต้องปฏิบัติตัว ดังนี้
1.ทนเหงาหน่อย
ห้ามคนมาเยี่ยม อยู่ในห้องส่วนตัวตลอดเวลา เว้นระยะห่างจากคนในครอบครัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ
2.แยกข้าวแยกสำรับ
ไม่กินอาหารร่วมกัน เพราะช่วงเวลากินข้าว ต้องถอดหน้ากกาก ทำให้มีความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ
3.ของใช้ส่วนตัวไม่แบ่งใคร
ไม่ใช่ของส่วนตัวร่วมกับใคร เช่น โทรศัพท์มือถือ จาน ชาม ช้อน ส้อม แก้วน้ำ และผ้าขนหนู เป็นต้น เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
4.แม่ยังให้นมลูกได้
แม่ที่ต้องให้นมลูกยังสามารถให้นมได้ เพราะไม่มีรายงานว่า พบเชื้อโควิด-19 ในน้ำนม แต่แม่ต้องสวมหน้ากากและล้างมือก่อนสัมผัสลูกหรือให้นม

5.ดื่มน้ำ และพักผ่อนอย่างเพียงพอ
ผู้ป่วยควรดื่มน้ำสะอาด และพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
6.ห้องน้ำแยกเดี่ยว
ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น ถ้าจำเป็นต้องใช้ ให้ใช้เป็นคนสุดท้าย ปิดฝาชัดโครกก่อนกดน้ำ หลังใช้ให้ทำความสะอาดโถสุขภัณฑ์ทันที ด้วยน้ำยาฟอกขาว
7.หมั่นเปิดประตู หน้าต่าง
ควรเปิดประตู หน้าต่าง อย่างน้อย 2 ด้านของห้อง เพื่อให้มีช่องทางลมเข้าออก ลดการสะสมเชื้อ
8.สะอาดเสมอ
ควรล้างมือเป็นประจำอย่างถูกวิธีอย่างน้อย 30 วินาที โดยเฉพาะหลังการไอ หรือจาม
9.ฆ่าเชื้อเมื่อสัมผัส
ผู้ป่วยควรทำความสะอาดของใช้ที่มีการสัมผัสร่วมกันหลังจากมีการหยิบจับ เช่น ลูกบิดประตู สวิตซ์ไฟ เพื่อไม่ให้คนคนที่มาใช้ต่อได้รับความเสี่ยงต่อการรับเชื้อ

10.ระวังการไอ จาม
หากรู้สึกอยากไอ หรือจาม ต้องออกห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 2 เมตร และหันหน้าไปทางตรงกันข้ามกับคนอื่นอย่างน้อย 2 เมตร ขณะที่ไอ หรือจามต้องสวมหน้ากากอนามัย หากไม่สวมหน้ากากอนามัย ห้ใช้ต้นแขนด้านในปิดปากและจมูก
11.สวมหน้ากากเมื่อเจอผู้อื่น
หากจำเป็นต้องเจอผู้อื่นให้สวมหน้ากากอนามัยตลดเวลา เมื่อใช้หน้ากากอนามัยครบ 8 ชั่วโมง หรือสึกว่าหน้ากากเปียกชื้นให้ทิ้งใส่ถุงขยะติดเชื้อ หากเป็นหน้ากากผ้าให้ซักทำความสะอาด สำหรับผู้ที่ต้องดูแผู้ป่วย ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
12.เสื้อผ้า เครื่องนอน ต้องสะอาด
ควรซักผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู ด้วยสบูหรือผงซักฟอก หากใช้เครื่องซักผ้าให้ซักด้วยผงซักฟอก หรือน้ำยาซักผ้าในอุณหภูมิน้ำ 60-90 องศาเซลเซียส

อาการที่ควรรีบติดต่อแพทย์ ขณะที่แยกกักตัวที่บ้าน
1.มีไข้สูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส
2.อาเจียนกินอาหารไม่ได้
3.ค่าออกซิเจนปลายนิ้วต่ำกว่า 96%
4.มีอาการซึมเรียกไม่รู้สึกตัว หรือไม่ตอบสนอง
5.หายใจไม่สะดวก หายใจติดขัด พูดเป็นประโยคยาวๆ ไม่ได้
6.ไอมากขึ้นแน่นหน้าอกต่อเนื่อง นอนราบไม่ได้ หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ ให้รีบติดต่อแพทย์เช่นกัน หากมีข้อสงสัย ให้โทรสอบถามโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยอยู่ในระบบ

เมื่อแพทย์ประเมินแล้วว่าให้สิ้นสุดการกักตัวที่บ้าน ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัว ดังต่อไปนี้
1.ยังต้องระวังตัวอย่างเคร่งครัด ด้วยการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ
2.พยายามแยกตัวจากคนอื่น เลี่ยงการทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง จบครบ 1 เดือนนับจากวันที่กักตัว
3.หากยังไม่ได้ฉีดวัคซีน แนะนำให้ฉีดวัคซีน โดยเว้นระยะเวลา 3-6 เดือน นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ
น่าจะพอเป็นข้อมูลให้กับเพื่อนๆ ได้ไม่มากก็น้อยนะคะ เพื่อนๆ คนไหนที่มีความเสี่ยงสูง หรือเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 หากมีอาการไม่รุนแรงหรือเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ลองปฏิบัติตัวตามข้อมูลนี้ดูนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : คู่มือการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) จัดทำโดยกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)