เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนต้องระมัดระวังตัวเองอย่างมากกับการระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงรุนแรงอย่างมากในประเทศไทย ดังนั้น การป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากโควิด-19 จึงมีความสำคัญมากๆ เพราะหากต้องกลายเป็นผู้ติดเชื้อจะอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากมากใช่ช่วงเวลานี้ เนื่องจากต้องเผชิญกับปัญหาเตียงตึง การติดต่อเจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่ใช้เวลานาน

เมื่อเกิดการติดเชื้อ และยังหาเตียงหรือสถานที่รักษาไม่ได้ แน่นอนเพื่อนๆ หลายคนอาจมีความกังวลว่าเชื้อจะลงปอดหรือไม่ และเพื่อให้เพื่อนๆทุกคนเรียนรู้เรื่องนี้ไปพร้อมๆกัน สามย่านมิตรทาวน์ มีคำแนะนำที่ดีๆ จากคุณหมอนัด รศ.นพ.กรภัทร มยุระสาคร จากโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ มาเล่าให้ฟัง ไปทำความเข้าใจพร้อมๆ กันเลย
สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว สามารถรักษาตัวอยู่ที่บ้าน( Home Isolation) ได้ ซึ่งคุณหมอนัด ผู้ที่ทำหน้าดูแลผู้ป่วยใน Home Isolation และผู้ป่วยแบบทั่วไป เล่าว่า ประมาณ 80% ของผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 จะไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยมาก คือ มีไข้ ไอ และปวดตามตัวเท่านั้น เหมือนกับเป็นไข้หวัด ซึ่งหากแบ่งเป็นอัตราส่วนของอาการที่พบส่วนใหญ่จะมีอาการไข้ ประมาณ 99% ต่อมาจะมีอาการไอ ประมาณ 59-82% และปวดเมื่อยประมาณ 44-70% โดยบางคนอาจจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ซึ่งเป็นอาการที่จะพบทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ หลังจากนั้นจมูกไม่ได้กลิ่น และอาจมีอาการเชื้อลงปอดตามมาได้

การสังเกตว่าเป็นเชื้อลงปอดหรือไม่? ให้สังเกตว่าเป็นไข้หรือไม่ ต่อมามีวัดค่าออกซิเจนที่ปลายนิ้ว โดยทุกคนสามารถเลือกซื้อเครื่องวัดออกซิเจนแบบมือถือ ที่มีราคาขายตั้งแต่ระดับร้อยจนถึงระดับพันบาทมาใช้ได้ที่บ้าน แต่หากเป็นเครื่องที่ใช้งานในโรงพยาบาลจะมีราคาตั้งแต่หลักหมื่นบาทจนถึงหลักแสนบาท ซึ่งการสัดค่าออกซิเจนในร่างกายถือว่ามีความจำเป็นอย่างมาก เพราะค่าออกซิเจนที่เริ่มปรับตัวลดลงหมายถึงระดับอาการเริ่มมีความอันตราย
สำหรับค่าออกซิเจนที่อยู่ในเกณฑ์ปกติต้องมากกว่า 97% ขึ้นไป แต่คนมีอาการโควิด-19 จะนับที่ระดับ 96% ลงมา ส่วนใหญ่ที่บอกว่าเชื้อลงปอดจะวัดได้ตั้งแต่วันที่ 3-4 จนถึงวันที่ 10 ที่เป็นจุดพบว่ามีปริมาณเชื้อมาก แต่หลังจากวันที่ 10 ไปแล้ว ข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าจะมีเชื้อปริมาณน้อยลง หรือมีโอกาสแพร่เชื้อได้น้อยมาก ทำให้มีการกำหนดกักตัวใน 14 วันและมั่นใจจะไม่ไปแพร่เชื้อต่อ สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ จึงควรวัดออกซิเจนเป็นระยะและส่วนใหญ่วันที่ 3-4 จะมีอาการออกมาแล้ว ซึ่งค่ามาตรฐานของออกซิเจนในเลือดคือ 97%

ข้อสังเกตต่อมาสำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ คือ ให้ลองนอนบนเตียงและปั่นจักรยานอากาศ หากค่าออกซิเจนลดลง 3% เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ หรือลุกเดินไปมาระหว่างเตียงแล้งค่าออกซิเจนลดลง หรือใส่หน้ากากอนามัยที่หนาเกินไป อาจทำให้ค่าออกซิเจนลดลง ค่าออกซิเจนดังกล่าวอาจเป็นค่าแปรปรวน และเชื้ออาจไม่ได้ลงปอด
สำหรับผู้ติดเชื้อคนไหนที่ค่าออกซิเจนต่ำ และมีภาวะเชื้อลงปอด กรณีนี้เกิดจากการมีเชื้ออยู่ในปอดทำให้เม็ดเลือดขาวพยายามฆ่าเชื้อโรค ทำให้เกิดเชื้อตายจึงเกิดหนองหรือเสมหะอุดตันตามปอดตามมา ซึ่งในบางครั้งก็ไม่ได้เกิดจากเชื้อไวรัส แต่เป็นผลมาจากกระบวนการที่ร่างกายเก็บกินเชื้อและเจอซากเชื้อ จึงทำให้เกิดเสมหะอุดตัน ซึ่งคนที่มีภาวะดังกล่าวไม่ควรออกกำลังกายหักโหม ควรเน้นไปที่การพักผ่อนให้เพียงพอจะดีมากกว่า

ส่วนผู้ป่วยท่านไหนที่มีอาการไอ และมีเสหะ แนะนำให้รักษาเหมือนไข้หวัดใหญ่ คือ ฝึกหายใจเข้าออกลึกๆ ให้ปอดได้ขยาย โดยที่ผ่านมาคุณหมอเคยรักษาคนไข้ที่ออกซิเจนต่ำที่เป็นโรคมะเร็ง จึงมีคำแนะนำให้นำพัดลมตัวเล็กๆ เป่าไปที่จมูก เพื่อให้ออกซิเจนสามารถเข้าสู่ปอดได้ดีขึ้น ถ้าคนเป็นโควิด-19 ก็ให้ฝึกหายใจเข้าลึกๆ อยู่ในพื้นที่อากาศเปิดโล่ง ให้ลมพัดอากาศถ่ายเท ทำให้หายใจได้ดี
อีกหนึ่งวิธีในการรักษาปอด คือ ไม่ควรนอนหงาย เพราะปอดจะมีโอกาสแฟบและทำให้ผู้ป่วยหายใจไม่อิ่ม จึงควรนอนคว่ำหรือนอนตะแคง โดยเอาหมอนวางรองไว้ เพื่อให้ปอดด้านหลังขยายตัวอย่างเต็มที่ หรือนอนตะแคงฝั่งละ 10-15 นาที สลับกันจะช่วยให้ออกซิเจนเข้าปอดซ้ายและขวาได้ดีขึ้น

แต่หากผู้ป่วยคนไหนมีอาการไอแห้ง ก็ให้รักษาเหมือนหวัด ด้วยการเลือกทานยาแก้ไข ถ้าไอมีเสมหะก็ทานยาธาตุน้ำดำ หรือ น้ำผึ้งผสมมะนาวที่เป็นน้ำอุ่นจะขับเสมมะได้ดี หรือถ้าเสมหะไม่ละลายก็ให้ทานยาละลายเสมหะ พร้อมกับดื่มน้ำ 2-3 ลิตรต่อวัน เพื่อให้ร่างกายมีความชุ่มชื้น และถ้าหากใครมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย ให้ผสมน้ำกับเกลือแร่ทานเอง ลดการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ที่เกิดจากการท้องเสียและผลข้างเคียงจากโควิด-19 รวมถึงให้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ดีต่อสุขภาพ
สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวทั้ง ทั้งเบาหวานและความดัน ให้ทานยาประจำต่อเนื่อง โดยคนบางคนจะได้ยาต้านเชื้อไวรัสอย่าง “ฟาวิพิราเวียร์” และยาอื่นๆ ซึ่งอาจจะเป็น “สเตียรอยด์ (Steroid)” มารับประทานด้วย เพื่อลดอาการอักเสบในปอด ซึ่งยานี้อาจส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น คนที่เป็นเบาหวานต้องควบคุมน้ำตาลให้ดี และตรวจระดับน้ำตาลปลายนิ้ว พร้อมกับวัดความดันเป็นระยะ เพื่อเพิ่มมั่นใจว่าความดันและระดับน้ำตาชจะไม่ผิดปกติ

ส่วนยาอื่นๆ ก็สามารถทานได้ปกติและไม่ต้องกังวลว่าจะไปบดบังการสร้างภูมิ รวมถึงยาสมุนไพรประจำบ้านอย่างยากระชายขาว และยาฟ้าทะลายโจร แต่มีข้อกำหนดของกรมการแพทย์ว่า ถ้าทานยาฆ่าเชื้ออยู่ควรหลีกเลี่ยงการทานยาฟ้าทะลายโจร รวมถึงควรหมั่นทำความสะอาดที่พัก วางสิ่งของจำเป็นให้อยู่ใกล้ตัว ไม่ควรทานอาหารที่ทำให้ท้องผูก หรือทำกิจกรรมที่ใช้แรงเยอะ
เพื่อนๆ คนไหนที่อยู่ในช่วงของการรักษา สามย่านมิตรทาวน์ ขอเป็นกำลังใจให้นะคะ เมื่อได้รับการรักษาอาการจะค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้น และหายเป็นปกติในที่สุด แต่ถ้าจะให้ดีไม่ติดเชื้อจะดีที่สุด เพราะฉะนั้นถ้าเราต้องออกไปทำธุระที่ไหนเราต้องเว้นระยะห่าง การล้างมือบ่อยๆ สวมใส่หน้ากากอนามัย และไม่ไปอยู่ในสถานที่แออัด เพราะการไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : เพจหมอนัดโภชนาการ รศ.นพ.กรภัทร มยุระสาคร โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์