Friday, March 31, 2023
Advertising call 02-033-8900 ext. 8819spot_img

10 สิ่งต้องรู้! สำหรับการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2020

ในช่วงนี้หากถามถึงกิจกรรมที่ทุกคนให้ความสนใจและติดตาม หนึ่งในนั้นต้องมีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 อย่างแน่นอน เพราะการจัดโอลิมปิกจะมีขึ้น 4 ปีครั้งเท่านั้น ซึ่งครั้งนี้ทุกคนทั่วโลกก็ต่างลุ้นว่า จะได้จัดตามแผนหรือไม่หลังจากเลื่อนไปหนึ่งปี แต่ในที่สุดก็ได้จัดขึ้นเป็นสำเร็จ ท่ามกลางความร่วมมือของผู้คนในโลก และมาตรการคุมเข้มความปลอดภัยป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงทำให้การแข่งขันในครั้งนี้ไม่มีคนดูในสนามการแข่งขัน

และเพื่อให้เพื่อนๆ ได้รู้จักการการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกกันมากขึ้น สามย่านมิตรทาวน์ จึงอยากชวนเพื่อนๆ มารู้จักกับ 10 เรื่องที่สำคัญของการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในครั้งนี้ว่า มีความพิเศษและน่าสนใจอย่างไรบ้างไปดูกันเลย

1.โอลิมปิกครั้งนี้ จัดขึ้นในปี 2021 แต่ใช้ชื่อว่า “โอลิมปิก2020
การจัดโอลิมปิกครั้งที่ 32 ที่จัดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2021 (พ.ศ. 2564) โดยเลื่อนเป็นเวลาหนึ่งปีจากสถานการณ์โควิด-19 และประเทศญี่ปุ่นได้ตั้งชื่องานอย่างเป็นทางการตามปีที่ต้องจัดงานไปตั้งแต่ต้นแล้วว่า “Tokyo 2020 Olympics” หรือเรียกชื่อได้ว่า “โอลิมปิกเกมส์ 2020”

2.กำหนดการแข่งขันของโอลิมปิกเกมส์ 2020
พิธีการเปิดโอลิมปิกอย่างเป็นทางการ ได้จัดขึ้นที่สนามกีฬาแห่งชาติญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา และพิธีปิดจะจัดขึ้นในวันที่ 8 สิงหาคม 2564 รวมการจัดงานทั้งหมด 17 วัน โดยสนามการแข่งขันกีฬาส่วนใหญ่จะอยู่ที่กรุงโตเกียว เมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น

3.พิธีเปิดโอลิมปิกเกมส์ 2020
มาดูที่แนวคิดการจัดภายใต้ชื่อ “การรวมใจเป็นหนึ่งเดียวของมวลมนุษยชาติ” เนื่องจากหลายประเทศต่าง กำลังต่อสู้กับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพิธีเปิดมีสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน ซึ่งในส่วนของการเดินขบวนพาเหรดมีนักกีฬาจาก 205 ประเทศเข้าร่วม ยึดหลักความเสมอภาคทางเพศ ทำให้นักกีฬาชาย-หญิง ร่วมเป็นผู้ถือธงชาติของตนเองนำหน้าขบวนพาเหรดเข้าสู่สนาม ส่วนนักกีฬาไทยเดินพาเหรดเข้าสู่สนามในลำดับที่ 102 ตามตัวอักษรของญี่ปุ่น นำโดย ‘เอิน’ ณภัสวรรณ หย่างไพบูลย์ นักยิงปืนหญิง และ ‘แซม’ เศวต เศรษฐาภรณ์ นักกีฬายิงปืนเป้าบินชาย เป็นผู้ถือธงชาติไทยเข้าสู่สนาม ส่วนนักกีฬาญี่ปุ่น เจ้าภาพ เดินพาเหรดปิดท้ายขบวน

4.ไวรัลที่ทุกคนพูดถึงบนโลกออนไลน์ในช่วงพิธีเปิด
สิ่งที่ทุกคนพูดถึงอย่างมากกับพิธีเปิดคือ การแสดงโชว์พิกโตแกรม (Pictogram) หมายถึง ภาพสัญลักษณ์แทนตัวหนังสือ เป็นการแสดงข้อมูลในรูปแบบง่ายๆ ที่ไม่ต้องอาศัยภาษา ซึ่งการใช้พิกโตแกรมหรือภาพสัญลักษณ์แทนตัวหนังสือในวงการกีฬาเกิดขึ้นครั้งแรกในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 18 เมื่อ ค.ศ.1964 ทำให้ครั้งนี้ทีมดีไซเนอร์ได้นำแรงบันดาลใจจากปีดังกล่าวมาสู่การแสดงในปีนี้ที่เน้นเส้นสายที่เรียบง่าย แต่มีมิติมากขึ้นด้วยการเน้นการเคลื่อนไหวร่างกายของนักกีฬาที่บ่งชี้เอกลักษณ์ของกีฬาประเภทต่างๆ จำนวน 50 ภาพ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของ 33 ประเภทกีฬาที่ใช้ในการแข่งขันครั้งนี้ นอกจากนี้ยังมีการใช้โดรน หรือ อากาศยานไร้คนขับ จำนวนกว่า 1,800 ตัว บินรวมกันบนท้องฟ้าเป็นรูปสัญลักษณ์ของ โอลิมปิก และมีการเปลี่ยนเป็นรูปโลกที่มีความสวยงาม รวมถึงการนำเพลงจากวีดีโอเกม มาร่วมเปิดในช่วงที่นักกีฬาแต่ละชาติเดินเข้าสู่สนามอีกด้วย

5.จำนวนการแข่งขันกีฬาทั้งหมด
สำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในครั้งนี้จะมีการแข่งขันกีฬาทั้งหมด 33 ชนิด มีรอบการแข่งขันรวม 339 รอบ และมีรอบชิง 41 รอบ สำหรับกีฬาที่ถูกนำกลับมาทำการแข่งขัน และเพิ่มชนิดกีฬาใหม่ คือ เซิร์ฟ, สเกตบอร์ด, ปีนหน้าผา, เบสบอลชาย, ซอฟต์บอลหญิง, คาราเต้, บาสเกตบอล, รักบี้, กอล์ฟ และบีเอ็มเอ็กซ์ฟรีสไตล์

6.มีผู้ร่วมการแข่งขันและจำนวนมีผู้ชม
จากโรคระบาดที่เกิดขึ้นทำให้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในรอบนี้ ไม่มีผู้ชมในสนาม ขณะที่นักกีฬา-เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในสนามการแข่งขันก็อนุญาติให้เข้าไปอยู่ในสนามไม่เกิน 1 หมื่นคน เพื่อควบคุมและป้องกันเหตุการณ์โรคระบาดที่อาจเกิดขึ้น

7.ผู้เข้าแข่งขันอายุน้อย-มากที่สุด ประจำการแข่งขัน
อีกหนึ่งไฮไลต์ที่น่าสนใจของการแข่งขันในครั้งนี้ คือ ผู้เข้าแข่งขันอายุน้อยที่สุด คือ เฮนด์ ซาซา (Hend Zaza) อายุ 11 ปี จากประเทศซีเรีย เข้าแข่งขันกีฬา เทนนิส ส่วนผู้เข้าแข่งขันอายุมากที่สุด คือ หนี่ เซียะ เหลียน (Ni Xia Lian) อายุ 57 ปี จากประเทศจีน เข้าแข่งขันปิงปอง

8.เหรียญรางวัลมาจากการรีไซเคิล
เป็นอีกเรื่องที่ทุกคนต่างพูดถึงอย่างมากคือ “เหรียญรางวัล” สำหรับผู้เข้าแข่งขันทำจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ จำพวกคอมพิวเตอร์-โทรศัพท์มือถือที่มาจากการบริจาคของคนในประเทศญี่ปุ่น จึงทำให้เหรียญรางวัลถูกจัดทำขึ้นมาภายใต้คอนเซ็ปต์ รักษ์โลก ซึ่งในส่วนของการจัดทำเหรียญรางวัลในครั้งนี้มีทั้งหมด 2,500 เหรียญ ออกแบบโดย จุนอิจิ คาวานิชิ (Junichi Kawanishi) รายละเอียดของเหรียญในด้านหลังเหรียญจะเป็นรูป “นิเค” เทพีชัยชนะของกรีก และมีกล่องเคสวัสดุทำจากไม้ เพื่อเก็บเหรียญรางวัล

9.มาสคอตประจำการแข่งขัน
ความเป็นมาของมาสตอคการแข่งขันในครั้งนี้ เกิดขึ้นมาจากการลงคะแนนโหวตของนักเรียนในระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนญี่ปุ่นทั้งในและต่างประเทศเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยมาสคอสที่ใช้ในการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกในครั้งนี้ มีชื่อว่า MIRATOWA ขณะที่มาสคอตประจำมหกรรมกีฬาพาราลิมปิก 2020 ที่จะเกิดขึ้นหลังจากกีฬาโอลิมปิก 2020 คือ SOMEITY สำหรับมาสคอส MIRATOWA เกิดจากการนำคำว่า “มิไร” แปลว่า “อนาคต” และ “โทะวะ” แปลว่า “ชั่วนิรันดร์” รวมกันแสดงถึงอนาคตที่สดใสชั่วนิจนิรันดร์ ทำให้การแข่งขั้นครั้งนี้จะช่วยส่องสว่างจิตใจของผู้คนทั่วโลกให้เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังแห่งอนาคต

10.นักกีฬาไทยที่เข้าร่วมแข่งขัน
ทัพนักกีฬาไทยที่เข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในครั้งนี้มีจำนวน 42 คน ใน 14 ชนิดกีฬา และตอนนี้ก็มีนักกีฬาไทยที่สามารถคว้าเหรียญทองมาสำเร็จแล้ว 1 คน คือ “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักกีฬาเทควันโด อันดับ 1 ของโลก ในรุ่น 49 กก. สร้างความสุขให้กับคนไทยในช่วงนี้ได้มากเลยทีเดียว

เพื่อนๆ สนใจอยากติดตามเชียร์กีฬาใดเป็นพิเศษกันบ้าง บอกเลยมีกีฬาหลากหลายให้น่าติดตามมากๆ ซึ่งในส่วนของนักกีฬาไทยก็ยังมีกีฬาอีกหลายรายการที่อยู่ระหว่างการแข่งขัน เรามาร่วมลุ้นและส่งกำลังใจ เพื่อให้ประเทศไทยได้เหรียญรางวัลหลายๆ เหรียญกันนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรุงเทพธุรกิจ, ไทยรัฐออนไลน์ และ Sanook.com

- Advertisment -

“SAMYAN MITRTOWN 3RD ANNIVERSARY มิตรเดย์ มิตรเลิฟ เฟสติวัล ”

ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายแคมเปญ “SAMYAN MITRTOWN...