วันเข้าพรรษา เป็นวันที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดฤดูฝนเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า “จำพรรษา” ซึ่งในปี 2564 นี้ วันเข้าพรรษา คือวันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8

ตามประวัติทางพระพุทธศาสนา วันเข้าพรรษา แปลว่า พักฝน หมายถึง ช่วงที่พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน เนื่องจากสมัยพุทธกาลพระภิกษุมีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ ด้วยการเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชน โดยไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ เช่นเดียวกับช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวบ้านปลูกพืชผลทางการเกษตร การเดินทางไปเผยแพร่พระธรรมคำสอนในช่วงดังกล่าวทำให้ถูกชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชผลอื่นๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในช่วงฤดูฝน โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ
1.ปุริมพรรษา หรือ วันเข้าพรรษาแรก เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี หรือถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11
2.ปัจฉิมพรรษา หรือ วันเข้าพรรษาหลัง เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
อย่างไรก็ตาม หากมีกิจธุระ คือเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในวันเดียวนั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืน เรียกว่า “สัตตาหะ” หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด

สำหรับข้อยกเว้นให้ภิกษุจำพรรษาที่อื่นได้ โดยไม่ถือเป็นการขาดพรรษา เว้นแต่เกิน 7 วัน ได้แก่
1.การไปรักษาพยาบาลภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย
2.การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้
3.การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด
4.หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขาได้

นอกจากนี้ ระหว่างการเดินทางถ้าตรงกับวันหยุดเข้าพรรษาพอดี หากพระภิกษุสงฆ์กลับเข้ามาทันในหมู่บ้านหรือในเมืองก็สามารถหาที่พักพิงได้ตามสมควร แต่ถ้ามาไม่ทันก็ต้องใช้โคนไม้ใหญ่เป็นที่พักแรม เมื่อชาวบ้านเห็นพระได้รับความลำบากเช่นนั้น จึงช่วยกันปลูกเพิง เพื่อให้ท่านได้อาศัยพักฝน โดยเรียกที่พักดังกล่าวว่า “วิหาร” แปลว่า ที่อยู่สงฆ์
เมื่อหมดหน้าฝน พระสงฆ์ก็จะออกจาริกตามกิจของท่าน และเมื่อกลับมาถึงหน้าฝนใหม่อรกครั้งท่านก็กลับมาพักอีก เพราะสะดวกดี แต่บางท่านอยู่ประจำเลย จึงทำให้มีเศรษฐีผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็เลือกหาสถานที่ที่สงบเงียบไม่ห่างไกลจากชุมชนนัก สร้างเป็นที่พักมีชื่อเรียกว่า “อาราม” ให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ดังเช่นปัจจุบันนี้

สำหรับเครื่องใช้สอยของพระตามพุทธานุญาตให้มีประจำตัวนั้น มีเพียงอัฐบริขาร อันได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน และกว่าพระสงฆ์จะหาที่พักแรมได้ บางทีก็ถูกฝนตกใส่จนเปียกปอน เมื่อชาวบ้านเห็นเช่นนั้น จึงถวายผ้าอาบน้ำฝนสำหรับให้ท่านได้ผลัดเปลี่ยน พร้อมกับถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันในช่วงวันเข้าพรรษา ซึ่งสืบทอดจนเป็นประเพณีในการทำบุญมาจนถึงทุกวันนี้
ในส่วนของพุทธศาสนิกชน ได้ถือโอกาสนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีในการทำบุญรักษาศีล เพื่อชำระจิตใจให้ผ่องใส โดยก่อนวันเข้าพรรษาชาวบ้านจะไปช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหาร และอื่นๆ พอถึงวันเข้าพรรษาก็ไปร่วมกันทำบุญตักบาตร ถวายเครื่องสักการบูชา ดอกไม้ ธูปเทียน และเครื่องใช้ต่างๆ เช่น สบู่ และยาสีฟัน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการฟังเทศน์ ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด ในขณะที่บางคนอาจตั้งใจงดเว้นอบายมุขต่างๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น พร้อมกันนี้ บางครอบครัวยังนิยมจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลานของตนได้เข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษาในระหว่างนี้ เพราะจะได้รับอานิสงส์อย่างสูง
ขอบคุณข้อมูลจาก : kapook