Wednesday, March 29, 2023
Advertising call 02-033-8900 ext. 8819spot_img

เปิดวิธีตรวจสอบ ‘Fake news’ คิดสักนิดก่อนแชร์

ข่าวสารที่ออกมาผ่านโซเชียลมีเดียในช่วงนี้มีจำนวนมหาศาลหลากหลายเรื่องราวจริงๆ ข้อมูลมากมายขนาดนี้ เพื่อนๆ ก็ต้องอย่าลืมพิจารณาข้อมูลอย่างรอบรอบ เพราะว่าข้อมูลออนไลน์ที่ออกมามีทั้งข้อมูลจริงและข้อมูลปลอม (Fake news) ที่มาพร้อมกัน หลายข่าวสารที่มักออกมารวดเร็วในบางครั้งก็สร้างความเข้าใจผิดไปมากมาย สามย่านมิตรทาวน์ เลยอยากจะเพื่อนๆ มาเช็คข้อมูลให้รอบคอบก่อนแชร์ เพราะหากแชร์ออกไปแล้วข่าวนั้นไม่เป็นความจริง เราก็จะเข้าข่ายมีความผิดทางกฎหมายไปด้วย

จากการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงลึกโดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ระบุว่า หากย้อนหลังกลับไปช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 – 30 มิ.ย. 2564) คนไทยมีการโพสต์ข่าวปลอมมากกว่า 5.87 แสนคน มีจำนวนผู้แชร์ข่าวปลอมมากถึง 20.29 ล้านคน ส่วนใหญ่ประมาณ 90% อยู่ในช่วงอายุ 18-34 ปี ทำให้ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีข่าวที่ต้องคัดกรองทั้งหมด 145 ล้านข้อความ เข้าเกณฑ์ดำเนินการตรวจสอบ 13,165 ข้อความ พบข้อความข่าวที่ต้องตรวจสอบ 5,010 เรื่อง

เพื่อนๆ สงสัยกันไหมว่าทำไมข่าวปลอมถึงได้รับความสนใจสูงและเผยแพร่ได้รวดเร็ว เรื่องนี้มีคำตอบจาก สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) มาเล่าให้ฟัง จากการวิเคราะห์การเผยแพร่ข่าวสารบนทวิตเตอร์ 126,000 เรื่อง ระหว่างปี 2549-2560 พบว่าเรื่องหลอกลวงเข้าถึงผู้ชมได้มากกว่า 100 เท่า และแพร่กระจายได้เร็วกว้างกว่าเรื่องจริง โดย 1% ของข่าวปลอมระดับท็อปที่วิเคราะห์ สามารถเข้าถึงได้ 1,000 ถึง 100,000 คน ส่วนข่าวที่เป็นข้อเท็จจริงมียอดเข้าถึงเพียง 1,000 คน เท่านั้น โดยนักวิจัยของ MIT อธิบายว่าเพราะข่าวปลอมมีองค์ประกอบการของการเซอร์ไพรส์ ทำให้คนอยากแชร์ มีการกระตุ้นอารมณ์ที่รุนแรง ไม่ว่าจะกลัว เกลียด หรือแปลกใจ ส่วนเรื่องจริงมักเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ อย่างความเศร้า ความสุข หรือความไว้เนื้อเชื่อใจ

จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ) หรือ ETDA ต้องออกมาให้คำแนะนำกับการตรวจสอบ “ข่าวปลอม (Fake News) ออนไลน์ ก่อนเชื่อและแชร์ ดังนี้

1.ลำดับแรกควรดูความน่าเชื่อถือเว็บไซต์ที่เผยแพร่ข่าว หากเป็นเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ที่มีเพียงไม่กี่หน้าเว็บไซต์ และไม่ระบุที่อยู่ติดต่อ อาจเป็นไปได้ว่าเป็นเว็บไซต์ที่ถูกสร้างเพื่อเผยแพร่ข่าวปลอม

2.ตรวจสอบว่ามีเว็บไซต์หรือแหล่งข่าวอื่นที่เผยแพร่ข่าวเดียวกันหรือไม่ หากมีเพียงแหล่งข่าวเดียว ก็อาจเป็นไปได้ว่าเป็นข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ

3.ข่าวปลอมมักใส่ภาพจากข่าวเก่า ที่ไม่เกี่ยวข้องเพื่อทำให้ดูน่าเชื่อถือ โดยสามารถตรวจสอบจากบริการค้นหาเว็บไซต์จากรูปภาพของ TinEye หรือ Google Reverse Image Search เพื่อค้นหาว่ารูปอยู่ในข่าวเก่าหรือไม่

4.ตรวจสอบโดยการนำชื่อข่าว หรือเนื้อความในข่าวมาค้นหาใน Google ซึ่งผลการค้นหาอาจพบเว็บไซต์แจ้งเตือนว่าเป็นข่าวปลอม หรือดูวันที่เผยแพร่ข่าว อาจพบว่าเป็นข่าวที่ไม่จริง แต่ถูกเผยแพร่เมื่อในอดีต

5.อาจขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่น เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาโดยสอบถามบนเว็บบอร์ดหรือติดต่อสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือให้ช่วยตรวจสอบ แต่หากสงสัยข้อมูลข่าวสารที่ได้รับหรือต้องการแจ้งข่าวปลอม ได้ที่ www.antifakenewscenter.com โดย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทาง เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/AntiFakeNewsCenter/ หรือส่งเมสเสจได้ที่ m.me/AntiFakeNewsCenter ส่งไลน์ @antifakenewscenter และ ทวิตเตอร์ www.twitter.com/AFNCThailand รวมถึงผ่านเว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com

6.หากพบข่าวบนโซเชียลมีเดีย ที่ดูแล้วเห็นว่าน่าจะเป็นข่าวปลอมแต่ยังไม่แน่ใจ ทางที่ดีสุดคือไม่ควรแชร์เพื่อลดผลกระทบความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

อีกหนึ่งข้อควรรวังคือ ในการแชร์ต่อข่าวปลอมออนไลน์ อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวมถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่มีการประกาศใช้ในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 โดยหากเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 คือ นำข้อความเท็จเข้าระบบคอมพิวเตอร์ อันก่อให้เกิดความเสียหาย สร้างความตื่นตระหนก กระทบต่อสังคม มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ส่งต่อข้อมูลเท็จโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลเท็จถือว่ามีความผิดเท่ากับผู้กระทำผิดข้างต้นและมีโทษเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ หากข้อมูลที่แชร์ไปทำให้บุคคล องค์กร หน่วยงาน เสื่อมเสียชื่อเสียง หรือถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ก็อาจได้รับโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ที่โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับอีกด้วย

เพื่อนๆ เห็นแบบนี้แล้ว อยากให้ลองหยุดคิด เมื่อได้รับข่าวทางโซเชียล และคิดอีกรอบก่อนก่อนที่แชร์หรือไม่แชร์ออกไป เพราะหากเป็นข้อมูลที่บิดเบือน ก็สร้างผลกระทบต่อทั้งคนที่แชร์เอง คนที่อ่าน หรือคนที่ถูกเขียนถึง โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ เป็นวิกฤตระดับประเทศ หากรีบแชร์ รีบโพสต์โดยไม่ตรวจสอบ อาจจะเกิดผลกระทบครั้งใหญ่ตามมาได้อย่างแน่นอน

ขอบคุณข้อมูลจาก : กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ) หรือ ETDA

- Advertisment -

“SAMYAN MITRTOWN 3RD ANNIVERSARY มิตรเดย์ มิตรเลิฟ เฟสติวัล ”

ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายแคมเปญ “SAMYAN MITRTOWN...