แม้ว่าช่วงนี้ จะมีฝนตกลงมาบ้างในบางวัน และในบางพื้นที่ แต่เราก็ยังอยู่ในช่วงฤดูร้อน ที่อากาศยังคงร้อนอบอ้าว และแม้ว่าส่วนใหญ่เราจะต้อง Work from Home เพราะต้องช่วยกันป้องกันและหยุดการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ตาม แต่บางครั้งก็ต้องออกไปนอกบ้าน เผชิญกับอากาศร้อนที่อาจทำให้เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยได้เหมือนกัน หรือแม้แต่อาการ ฮีทสโตรก ( Heatstroke ) หรือ โรคลมแดด ซึ่งถือว่าเป็นโรคอันตรายที่พบได้บ่อยในช่วงหน้าร้อน โดยเกิดจากที่อยู่ท่ามกลางอากาศร้อนมากเกินไป ทำให้เกิดภาวะร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ เมื่อเกิดอาการควรได้รับการรักษาในทันที เพราะอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า อาจทำให้อันตรายถึงแก่ชีวิตได้

อย่างไรก็ดี บางครั้งร่างกายเราอาจจะไม่ได้รับอันตรายจากแสงแดด จนถึงขั้นเป็นฮีทสโตรกก็ได้ แต่อาจจะมีแค่อาการปวดหัว ตัวร้อนเบาๆ ซึ่งถือว่าแสงแดดเป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เจ็บป่วยได้ หรืออย่างน้อยก็ทำให้เกิดอาการปวดหัวได้เหมือนกัน จึงควรระมัดระวังและเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดดแรงๆ เพราะอาการปวดหัวสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และมาจากหลายสาเหตุ ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่ได้มีอาการรุนแรง แต่ก็สร้างความรำคาญ และอาจจะเป็นสัญญาณของโรคบางอย่างได้เช่นกัน
ดังนั้น หากเกิดอาการดังกล่าวบ่อยครั้ง อย่านิ่งนอนใจ หรือปล่อยไว้จนเกิดอาการเรื้อรัง เพราะอาจส่งผลเสียต่อร่างกายของเราได้ ซึ่งวันนี้ สามย่านมิตรทาวน์ มีข้อมูลที่น่าสนใจจาก นพ.ชยานุชิต ชยางศุ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบสมอง ศูนย์โรคระบบสมอง โรงพยาบาลนวเวช ย่านเกษตรนวมินทร์ รัชดา-รามอินทรา มาให้คำแนะนำเกี่ยวกับ วิธีการสังเกตอาการปวดศรีษะ และแนวทางการรักษามาฝาก

ปัจจัยที่กระตุ้นอาการปวดหัว
1.ภาวะความเครียด (Stress) ทุกอย่างที่ทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะเครียด ซึ่งไม่ใช่เฉพาะความเครียดอย่างเดียวเท่านั้น แต่หากอยู่ในภาวะบางอย่าง เช่น รถติด อากาศร้อน แสงจ้า กลิ่นบางชนิดเช่นควันบุหรี่ ควันรถยนต์ กลิ่นน้ำหอม ช่วงมีประจำเดือน ก็ล้วนแต่เป็นปัจจัยทำให้เกิดการปวดหัวได้เช่นกัน
2.ไม่ได้ทานอาหาร โดยเฉพาะมื้อเช้า หรือทานเลยเวลามากเกินไป ก็เป็นสาเหตุของอาการปวดหัวได้เช่นกัน
3.ได้รับคาเฟอีน (Caffeine) มากหรือน้อยเกินไป มากเกินไป เช่น การดื่มกาแฟมากกว่าวันละ 3 แก้วขึ้นไป หรือน้อยเกินไป เช่น คนที่ทานกาแฟเป็นประจำทุกวันแล้วไม่ได้ทานอาหาร รวมถึง การทานอาหารบางชนิด เช่น ชีส ช็อคโกแล็ต ผงชูรส อาจเป็นสาเหตุกระตุ้นการปวดหัวได้เช่นกัน
4.นอนหลับไม่เพียงพอ หรือนอนมากเกินไป หรือภาวะอื่น เช่น การนอนกรน หรือ การหยุดหายใจขณะหลับ
5.การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์เป็นสาเหตุสำคัญของอาการปวดหัวที่พบได้เสมอ

อาการปวดหัวที่ควรรีบมาพบแพทย์
1.อาการปวดหัวที่เป็นแบบเฉียบพลัน รุนแรง โดยเฉพาะความรู้สึกว่าปวดที่สุดในชีวิตที่เคยเป็นมา
2.มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย โดยเฉพาะ มีไข้ หรือมีคอแข็ง (ก้มหัวแล้วรู้สึกตึงหรือปวดบริเวณคอ) มีอาการชัก ซึม สับสน หรือหมดสติร่วมด้วย
3.ปวดหัวแบบเฉียบพลันรุนแรงทันทีหลังการออกกำลังกาย หรือมีการกระทบกระแทกบริเวณหัว
4.ไม่เคยปวดหัวเป็นประจำมาก่อน แล้วมีอาการเฉียบพลันขึ้นมาโดยเฉพาะในคนที่อายุมากกว่า 40 ปี หรือปวดหัวรุนแรงในขณะกำลังตั้งครรภ์
5.มีอาการแขนขาอ่อนแรง ชา ตามองเห็นภาพซ้อน หรือมองไม่เห็น (อาการเห็นภาพซ้อน หรือมองไม่เห็นนี้อาจเกิดขึ้นได้ในคนที่เป็นไมเกรน แต่มักจะหายไปในเวลาไม่นาน) อย่างไรก็ดี ถ้ามีอาการเหล่านี้ร่วมด้วยควรมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยแยกโรคก่อน

วิธีการดูแลรักษาเบื้องต้นเมื่อมีอาการปวดหัว
1.ทานยาแก้ปวดเมื่อมีอาการปวดหัว อย่ารอจนอาการเป็นรุนแรง ยาที่ทานเป็นตัวแรกแนะนำยาพาราเซตามอล (ถ้าไม่เคยแพ้ Paracetamol) หรือทานยาตามที่แพทย์สั่ง หากได้ไปพบแพทย์มาก่อนแล้ว
2.นอนพัก หรือถ้าหลับได้จะทำให้อาการดีขึ้นเร็ว พยายามหาที่มีแสงน้อย เงียบ เย็น จะทำให้อาการดีขึ้นได้
วิธีปฏิบัติตนเพื่อหลีกเลี่ยงอาการปวดหัว
แนะนำให้หาปฏิทินเพื่อจดอาการปวดหัว (Headache calendar) จดรายละเอียดเกี่ยวกับการปวดหัว ทั้งวันที่เป็น เวลา สิ่งที่ทำก่อนที่จะมีอาการ อาหารที่ทานก่อนที่จะมีอาการ ยาที่ทานหรือสิ่งที่ทำให้อาการดีขึ้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ จะช่วยในการวินิจฉัยของแพทย์หรือแม้กระทั่งเตือนความจำของตัวเราเองว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ

อาการปวดหัวรักษาอย่างไร
ปกติอาการปวดหัวรักษาได้ด้วยยา ปัจจุบันมียาหลายชนิด ตั้งแต่ยาพาราเซตามอล จนถึงยาฉีดเพื่อรักษาอาการปวดหัว สิ่งสำคัญคือการตรวจวินิจฉัยแยกโรคหรือภาวะอื่นๆ ซึ่งทำได้ด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย หรือบางกรณีอาจจะต้องทำการตรวจ CT scan หรือ MRI ก่อน การรักษาโดยการซื้อยารับประทานเองโดยเฉพาะถ้ามีอาการปวดเป็นประจำ มีผลทำให้ติดยาได้ อาจทำให้การปวดหัวรุนแรงขึ้น ถี่ขึ้น โดยเฉพาะถ้าเป็นโรคอื่นๆ แล้วทำให้มีอาการปวดหัวอาจมีความเสี่ยงทำให้ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที