Sunday, June 4, 2023
Advertising call 02-033-8900 ext. 8819spot_img

3 กิจกรรมความเชื่อ ‘วันสงกรานต์’ ทำไปเพื่ออะไร?

วันที่ 13 เมษายนของทุกปี เราถือกันว่าเป็น “วันมหาสงกรานต์” ที่เตรียมก้าวสู่ปีใหม่ของไทย ตามโบราณนานมา ที่จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน ซึ่งช่วงเวลา 3 วันระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปีทั่วทุกภูมิภาคของไทยก็จะจัดกิจกรรมทำบุญ ทำกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวันสงกรานต์ ซึ่งแต่ละภูมิภาคการจัดกิจกรรมก็แตกต่างกันออกไป ตามคตินิยมและความเชื่อประจำท้องถิ่น รวมถึงการเรียกชื่อของแต่ละวันก็แตกต่างกันออกไปด้วย แต่โดยหลักๆ แล้ว ก็ถือเอาวันที่ 13 เมษายน เป็นวันสงกรานต์ ​ในการเริ่มต้นทำกิจกรรม ​ ซึ่งส่วนใหญ่กิจกรรมหลักจะเป็นการตักบาตร ทำบุญ การสรงน้ำพระ การรดน้ำดำหัว และขอพรผู้ใหญ่

ส่วนประเพณีสงกรานต์ในปี 2564 นี้ อาจจะมีหลายพื้นที่ที่ไม่มีการจัดกิจกรรมเกิดขึ้น เพราะสถานการณ์ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องงดการจัดกิจกรรมลง แต่หลายพื้นที่ยังคงจัดกิจกรรมตามปกติ แต่อยู่ภายใต้มาตรการการเว้นระยะทางสังคม และมาตรฐานความปลอดภัยทางด้านสาธารณสุข

สิ่งที่ขาดไม่ได้ในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ นอกจากการเล่นน้ำ สาดน้ำใส่กันแล้ว  คือ การทำบุญตักบาตร แต่นอกเหนือจากนี้แล้ว ยังมีอีก 3 กิจกรรมที่ยึดถือปฏิบัติกันมานาน ไม่ว่าจะเป็น 1.การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ 2.การสรงน้ำพระ และ 3.การก่อเจดีย์ทราย แต่รู้หรือไม่ 3 กิจกรรมที่ว่านี้เกิดขึ้นมาเพื่ออะไร และทำไมต้องปฏิบัติตามประเพณีนั้นด้วย วันนี้ สามย่านมิตรทาวน์ มีคำตอบมาเฉลยให้ฟัง

ทำไมต้องรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่

ตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ เชื่อว่าการรดน้ำผู้ใหญ่ เป็นการแสดงความเคารพ และขอขมาสำหรับการกระทำไม่ดีที่ผ่านมา หากมีการกระทำที่ล่วงเกินผู้ใหญ่  โดยจะมีการเตรียมน้ำอบ น้ำสะอาด ดอกไม้สด หรือพวงมาลัย นำไปรดน้ำดำหัวและไหว้ผู้ใหญ่  นอกจากนี้ ยังเป็นการขอพรจากผู้ใหญ่ที่ไปรดน้ำดำหัว ให้เกิดความเป็นสิริมงคลต่อผู้นั้น เนื่องในโอกาสที่จะก้าวสู่ปีใหม่

            นอกจากนี้ ยังมีการรดน้ำ ซึ่งเป็นการรดน้ำอวยพรระหว่างเพื่อนฝูง ญาติมิตร หรือบุคคลที่อายุไม่ได้แตกต่างกันมากด้วย ขณะเดียวกันบางท้องถิ่น อย่างเช่นในภาคเหนือ จะมีการดำหัว ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการรดน้ำผู้ใหญ่ที่นิยมปฏิบัติกันในภาคกลาง เป็นการขอขมาในสิ่งที่ล่วงเกิน และการขอพรสำหรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนั่นเอง ​

ทำไมต้องก่อเจดีย์ทราย

หนึ่งในกิจกรรมวันสงกรานต์ที่ตามวัดต่าง ๆ มักจะกระทำ คือ การจัดให้มีการก่อเจดีย์ทราย รวมถึงการประกวดการก่อเจดีย์ทราย ตามความสวยงามและความคิดสร้างสรรค์  ซึ่งในโบราณนั้นได้แฝงคติความเชื่อไว้ว่า ตลอดทั้งปีชาวบ้านที่เข้ามาในวัด จะมีเศษดินเศษทรายติดเท้าออกไปนอกวัด ถือเป็นการทำบาปโดยไม่รู้ตัว ทำให้พอถึงเทศกาลปีใหม่ไทย จึงควรทำบุญด้วยการขนทรายมาไว้ในวัด แต่แทนที่จะขนมาไว้เฉย ๆ ก็มีการจัดการประกวด การแข่งขัน เพื่อความสนุกสนานด้วย และอีกกุศโลบายหนึ่ง คือ เป็นการทำให้ชาวบ้านในชุมชน เกิดความรักความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน และยังเป็นการช่วยเหลือทางวัด ในการขนทรายมาไว้ในวัด เพื่อที่ทางวัดจะได้นำเอาทรายไปใช้งานโดยไม่ต้องซื้อหรือเสียค่าจ้างในการขนทรายนั่นเอง ​

การสรงน้ำพระ

ประเพณีสงกรานต์ การสรงน้ำพระจะมีด้วยกันทั้งการสรงน้ำพระสงฆ์ และพระพุทธรูป โดยเฉพาะการนำเอาพระพุทธรูปซึ่งอยู่ประจำบ้าน นำมาสรงน้ำพระ ด้วยน้ำอบ พร้อมดอกไม้ และพวงมาลัย ซึ่งตามความเชื่อโบราณแล้ว การสรงน้ำพระเป็นการแสดงให้เห็นถึง การเคารพและสักการะต่อ พระพุทธศาสนาครบทั้ง 3 ประการ ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นการเริ่มต้นสิ่งที่เป็นมงคลในวันปีใหม่ด้วย จะทำให้เกิดความสุขความร่มเย็นตลอดปีใหม่  ขณะเดียวกัน ยังมีความเชื่อว่า การสรงน้ำพระพุทธรูปเป็นการทำความสะอาดพระที่ตลอดทั้งปีเราได้กราบไหว้ ขณะที่การสรงน้ำพระสงฆ์เป็นการช่วยให้ท่านเย็นสบายในช่วงฤดูร้อนที่ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของปีด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายกิจกรรมที่เราสามารถทำได้ แต่ต้องเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยทางด้านสาธารณสุข ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 2 เมตร และไม่ไปตามสถานที่ปิดหรือแหล่งที่มีผู้คนหนานแน่น ก็จะห่างไกลจากโควิด-19  

ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักวัฒนธรรมชุมพร, travel.trueid.net

- Advertisment -

“SAMYAN MITRTOWN 3RD ANNIVERSARY มิตรเดย์ มิตรเลิฟ เฟสติวัล ”

ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายแคมเปญ “SAMYAN MITRTOWN...