ใกล้ถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ในเดือนเมษายน 2564 แล้ว หลายคนคงเตรียมวางแผนท่องเที่ยวหรือการเดินทางกลับบ้านในช่วงปีใหม่ไทย ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่จะต้องมีการใช้จ่ายจำนวนมาก การใช้จ่ายที่เกิดขึ้นดังกล่าวอาจจะกระทบกับคนที่กำลังมีภาระผ่อนบ้านผ่อนรถ ค่าใช้จ่ายในการเรียน การทำธุรกิจ และค่าใช้จ่ายส่วนตัวต่างๆ ดังนั้นวันนี้ “สามย่านมิตรทาวน์” เลยอยากนำเสนอแนวทางการ “การปรับโครงสร้างหนี้” จากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ (ธปท.) เพื่อให้ผู้มีภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมากได้มีแนวทางปรับตัวรับมือกับค่าใช้จ่ายต่างๆ

ก่อนที่จะไปดูขั้นตอนการรับตัว เพื่อปรับโครงสร้างหนี้เรามาทำความรู้จักกับ “การปรับโครงสร้างหนี้ตามแบงก์ชาติ” กันก่อนดีกว่า “การปรับโครงสร้างหนี้” คือ … การช่วยเหลือลูกหนี้ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญากู้เงินที่เคยทำไว้กับเจ้าหนี้ได้ จึงมีการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ใหม่ให้เหมาะสมกับรายรับที่ลดลงหรือความสามารถในการชำระหนี้ที่เปลี่ยนไป โดยที่ไม่ต้องรอให้เป็นหนี้เสีย หรือ เอ็นพีแอล (Non-Performing Loan : NPL) เนื่องจากหากปล่อยปัญหาหนี้ไว้นานเกินไปอาจส่งผลเลวร้ายกว่าที่คิด เช่น ถูกฟ้องร้อง ยึดทรัพย์ และหาทางออกได้ยากยิ่งขึ้น
สำหรับรูปแบบของการปรับโครงสร้างหนี้ หรือเงื่อนไขการชำระหนี้ยังมีอีกหลายรูปแบบ รวม 8 วิธีคือ ยืด · พัก · ลด · ยก · เพิ่ม · เปลี่ยน · ปิด · รี ประกอบด้วย การยืดหนี้ การพักชำระเงินต้น ลดอัตราดอกเบี้ย ยกหรือผ่อนปรนดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เพิ่มเงินทุนหมุนเวียน เปลี่ยนประเภทนี้ ปิดจบด้วยเงินก้อน และการรีไฟแนนซ์ ซึ่งจะมีตัวอย่าง 3 แบบหลักๆ คือ

1.ขอขยายเวลาชำระหนี้ หรือการยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไปซึ่งจะทำให้ค่างวดลดลง เช่น สัญญาฉบับเดิมมีเวลาการกู้อยู่ที่ 10 ปี มีค่างวดอยู่ที่ 10,000 บาทต่อเดือน ผ่อนชำระมาแล้ว 7 ปี เหลือระยะเวลาผ่อนอยู่ 3 ปี แต่เมื่อเริ่มผ่อนไม่ไหว จึงขอเจรจาขยายเวลาชำระหนี้กับเจ้าหนี้ออกไปจาก 3 ปีเป็น 5 ปี เพื่อให้ยอดผ่อนชำระต่อเดือนลดลงต่ำกว่า 10,000 บาท เพื่อลดภาระในการจ่ายค่างวดแต่ละเดือนให้แก่ลูกหนี้ได้
2.รีไฟแนนซ์ (refinance) คือ “การเปลี่ยนเจ้าหนี้” หรือการ “ปิดหนี้” จากเจ้าหนี้รายเดิมมาเป็นเจ้าหนี้รายใหม่หรือทำสัญญาใหม่กับเจ้าหนี้เดิมที่เงื่อนไขดีกว่า เช่น อัตราดอกเบี้ยถูกลง แล้วนำเงินที่ได้มาปิดหนี้ก้อนเดิมที่มีอยู่ ซึ่งก่อนที่จะตัดสินใจรีไฟแนนซ์ควรคำนึงถึงค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น ค่าจดจำนอง ค่าธรรมเนียมในการดำเนินการ ค่าประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนเจ้าหนี้ การทำสัญญาใหม่ รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้กับเจ้าหนี้

3.ขอลดอัตราดอกเบี้ย จะทำให้ค่างวดที่เราจ่ายในแต่ละเดือนสามารถนำไปตัดเงินต้นได้มากขึ้น หมดหนี้เร็วขึ้น
ฟังแล้วหลายคนต้องใจชื้นขึ้นแน่ๆ โดยเจ้าหนี้อาจมีเงื่อนไขการพิจารณาอนุมัติปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่แตกต่างกัน เช่น พิจารณาจากอายุของลูกหนี้ ประวัติการผ่อนชำระ และความสามารถในการชำระหนี้หลังปรับปรุงโครงสร้างหนี้
นอกจากนี้ แบงก์ชาติ ยังมีโครงการ “คลินิกแก้หนี้” เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน โดยรวมหนี้เสียจากเจ้าหนี้หลายเจ้ามาปรับปรุงโครงสร้างหนี้และเหลือผ่อนชำระกับเจ้าหนี้รายเดียวคือ บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM เป็นหน่วยงานกลางเชื่อมโยงระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ทุกราย จึงสามารถผ่อนชำระนานสูงสุดถึง 10 ปี มีอัตราดอกเบี้ยถูกลงมาก ประมาณ 4-7% ต่อปี สามารถผ่อนได้ตามตารางชำระหนี้ พร้อมกับยังให้ความรู้ทางการเงินควบคู่ไปด้วย ซึ่งเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ https://www.debtclinicbysam.com/

ส่วนคนที่มีปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ยังมีทางออกอีกแนวทางจาก “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้” จากแบงก์ชาติและกรมบังคับคดี แบ่งเป็น 3 แบบคือ 1. หนี้ที่สถานะยังดีอยู่ (แต่เริ่มรู้สึกฝืดเคือง) สามารถเปลี่ยนเป็น term loan มีเวลาผ่อน 4 ปี อัตราดอกเบี้ยจาก 16% เหลือ 12% ไม่เสียประวัติเครดิตบูโร 2. หนี้ NPL ตั้งแต่ก่อนฟ้อง หรือ อยู่ระหว่างฟ้อง จ่ายเฉพาะเงินต้น ดอกเบี้ยค้างยกให้เมื่อจบสัญญา มีเวลาผ่อนชำระนาน 10 ปี และ 3. หนี้ NPL ที่มีคำพิพากษาบังคับคดีแล้ว จ่ายเฉพาะเงินต้น ดอกเบี้ยค้างยกให้เมื่อจบสัญญา มีระยะเวลาผ่อนชำระ 3 เดือน 3 ปี และ 5 ปี คนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ลงทะเบียนได้ด้วยตนเองได้ผ่านทาง https://www.1213.or.th/App/DMed/V1 ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 14 เม.ย. 64 หรือ สอบถามผ่านหมายเลข 1213
ถือเป็นทางออกในการร่วมแก้ไขหนี้สำหรับคนมีปัญหาเรื่องหนี้และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในทุกวัน สามารถแก้ไขเพื่อทำให้การบริหารจัดการเงินเกิดประสิทธิภาพและคล่องตัวมากขึ้น เชื่อว่าจะทำให้ทุกคนได้ท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ได้สนุกขึ้นอีกหลายเท่า ซึ่งในการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ 2564 จะมีการปรับให้สอดคล้องสถานการณ์ โดยกิจกรรมที่สามารถทำได้ คือ การสรงน้ำพระ พิธีรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ และการเดินทางข้ามจังหวัด ส่วนกิจกรรมที่ “งดจัด” ในเทศกาล “สงกรานต์ 2564” คือ งด การรวมกลุ่มสาดน้ำ งดจัดคอนเสิร์ต งดประแป้ง และ งดการเล่นปาร์ตี้โฟม ขอให้ทุกคนได้ร่วมงานเทศกาลสงกรานต์นี้อย่างมีความสุขและลดความกังวลเรื่องหนี้ไปพร้อมกัน

แม้ว่าจะมีสถานการณ์ที่น่ากังวลและมีวิกฤตหลายด้าน แต่แบงก์ชาติและเครือข่ายหน่วยงานรัฐ ยังพร้อมช่วยเหลือและหาทางออกให้แก่ลูกหนี้ได้เสมอ “ทุกอย่างต้องมีทางออก และทุกคนต้องรอดด้วยกัน”
ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย