เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ไม่มีใครอยากเป็น แต่เป็นแล้วก็ต้องรักษา ซึ่งปัจจุบันการไปรักษาโรงพยาบาลแต่ละครั้ง ก็อาจจะเสียค่าใช้จ่ายสูงไม่เช่นเล่น ทำให้หลายคนหันมาดูแลตัวเอง รักษาด้วยตนเอง หากอาการไม่รุนแรง ซึ่งอาจจะหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต เพราะทั้งง่ายและสะดวกรวดเร็ว แต่คงต้องเลือกหาข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ อย่างเช่นเว็บไซต์ของโรงพยาบาล หรือหน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงสาธารณสุข หากเป็นเว็บไซต์ทั่วไปคงต้องดูว่ามีแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหนด้วย

แต่ที่ผ่านมาเรามักพบว่า คนไทยยังขาดความรู้ที่ถูกต้อง แถมยังมีความเชื่อไม่ถูกต้องนัก เกี่ยวกับการใช้ยาและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เพราะได้รับข้อมูลที่บอกต่อๆ กันมา หรือแชร์กันต่อมาในโลกโซเชียล ซึ่งบางครั้งจริง บางครั้งก็ไม่ถูกต้อง วันนี้ สามย่านมิตรทาวน์ มีข้อมูลที่ถูกต้อง จากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มาฝากมีอะไรบ้างไปดูกัน

วิตามินซีไม่ช่วยรักษาไข้หวัด
วิตามินซี เป็นสารอาหารที่พบมากในผักและผลไม้ มีหน้าที่ช่วยให้หลอดเลือดแข็งแรง ช่วยสร้างเนื้อเยื่อคอลลาเจนและเนื้อเยื่อเอ็นข้อต่อกระดูก มีส่วนช่วยในกระบวนการต้านอนุมูลอิสระ ด้วยคุณประโยชน์ของวิตามินซี ทำให้หลายคนหาซื้อผลิตภัณฑ์วิตามินซีมารับประทาน เพราะเข้าใจว่าวิตามินซีสามารถช่วยรักษาไข้หวัดได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะวิตามินซีมีข้อบ่งใช้ในการป้องกันและรักษาอาการขาดวิตามินซี เช่น เลือดออกตามไรฟัน ไม่ได้มีข้อบ่งใช้เพื่อรักษาอาการหวัดแต่อย่างใด

ใช้ยาหม่องทารักษารอยฟกช้ำไม่จริง
รอยฟกช้ำ มีสาเหตุมาจาก ร่างกายได้รับแรงกระแทก เช่น ถูกชน ถูกตี ทำให้หลอดเลือดแตก และขยายตัวทำให้มีเลือดมาเลี้ยงยังบริเวณที่ถูกกระแทก เกิดเลือดคั่งใต้ผิวหนังปรากฏเป็นรอยฟกช้ำ ซึ่งเมื่อเกิดรอยฟกช้ำแล้วใช้ยาหม่องทาเพื่อรักษาอาการนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะยาหม่องทำให้เกิดความร้อนส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัวมากขึ้น กระตุ้นให้เลือดมารวมตัวกันมากขึ้น อาการฟกช้ำจึงแย่ลง เมื่อเกิดอาการปวด บวม ฟกช้ำ การปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธีจะช่วยให้อาการดีขึ้นได้ โดยปฏิบัติตนดังนี้
1.48 ชั่วโมงแรก ประคบด้วยน้ำเย็น หรือประคบด้วยน้ำแข็ง 2-3 ครั้ง ครั้งละ 15-30 นาที
2.เมื่อพ้น 48 ชั่วโมงแล้ว ประคบร้อนต่อ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 15 นาที

น้ำเกลือสำหรับใช้ภายนอกช่วยฆ่าเชื้อไวรัสไม่ได้
น้ำเกลือ คือ เกลือโซเดียมคลอไรด์ละลายน้ำในบริสุทธิ์ปราศจากเชื้อ น้ำเกลือสำหรับใช้ภายนอกร่างกายมีความเข้มข้น 0.9% เนื่องจากเป็นความเข้มข้นที่ไม่ทำให้เกิดการระคายเคือง สำหรับการนำมาใช้โดยมากแล้วจะใช้ประโยชน์ในการล้างทำความสะอาดภายนอกร่างกาย เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมของสิ่งสกปรกลดการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ล้างทำความสะอาดแผลสด ล้างจมูก เป็นต้น แต่น้ำเกลือสำหรับใช้ภายนอกไม่ช่วยฆ่าเชื้อไวรัสได้ เพราะน้ำเกลือไม่มีฤทธิ์ฆ่าหรือยับยั้งเชื้อไวรัส
การป้องกันเชื้อไวรัสสามารถทำได้โดย ใช้น้ำยากำจัดเชื้อ(Disinfectant) และสารยับยั้งเชื้อ(Antiseptic) และแนะนำให้ล้างมือด้วยสบู่ ใช้ภาชนะและช้อนของตัวเอง สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม

น้ำเกลือ Normal Saline ใช้แช่คอนแทคเลนส์ไม่ได้
น้ำเกลือ Normal Saline ไม่สามารถใช้แช่คอนแทคเลนส์ได้ แต่สามารถใช้ล้างก่อนใช้งาน เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อแบคทีเรีย และช่วยลดการระคายเคืองตาได้ เพราะน้ำเกลือ Normal Saline ชนิดใช้ภายนอกร่างกาย คือ เกลือโซเดียมคลอไรด์ละลายในน้ำบริสุทธิ์ปราศจากเชื้อ ไม่ผสมวัตถุกันเสีย และไม่ผสมสารฆ่าเชื้อ หากนำมาแช่คอนแทคเลนส์จะทำให้เกิดการสะสมของเชื้อแบคทีเรียได้
เพื่อความปลอดภัยแนะนำให้แช่คอนแทคเลนส์ด้วยน้ำยาสำหรับแช่คอนแทคเลนส์นาน 4-6 ชั่วโมง (แล้วแต่ชนิดของน้ำยา) หลังจากแช่น้ำยาสำหรับแช่คอนแทคเลนส์จนครบเวลาแล้ว ก่อนใช้คอนแทคเลนส์ควรล้างด้วยน้ำยาแช่คอนแทคเลนส์ หรือน้ำเกลือ Normal Saline อีกครั้งหนึ่ง เพราะช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อแบคทีเรียได้

ยาแคปซูลกินมากไม่มีอันตรายใดๆ
มีคนกังวลว่า แคปซูลยากินมากๆ จะเกิดอันตราย เพราะมีเรื่องนี้แชร์กันมา และยิ่งกังวลไปใหญ่เพราะคุณหมอชอบจ่ายยาที่เป็นแคปซูลมา เรื่องนี้ไม่ต้องกังวล เพราะไม่ใช่เรื่องจริง ซึ่งยาแคปซูล เป็นรูปแบบยาที่มีลักษณะของยาที่ลื่น ทำให้กลืนง่าย เปลือกแคปซูล หรือปลอกแคปซูลที่บรรจุยา ส่วนมากทำมาจากเจลาติน น้ำ และสี โดยการแปรรูปคอลลาเจนที่มีอยู่ในผิวหนัง และกระดูกสัตว์ เช่น วัว หมู เปลือกแคปซูลแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ แคปซูลชนิดเปลือกแข็ง (Hard Gelatin Capsules) เช่น ผงยา ผงแกรนูล หรือยาเม็ดเล็กๆ ได้ และแคปซูลชนิดเปลือกนิ่ม (Soft Gelatin Capsules) มักใช้บรรจุยา หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นของเหลว เช่น วิตามิน น้ำมันต่างๆ
การจะใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ควรทำการศึกษาข้อมูลอย่างถูกต้อง หรือไม่ปรึกษากับบุคลากรทางการแพทย์หรือเภสัช เพื่อให้การใช้ยาไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายของเรา