Monday, June 5, 2023
Advertising call 02-033-8900 ext. 8819spot_img

อย่าวางใจ! “นอนกรน” เรื่องปกติ ที่อันตรายถึงชีวิต

ในชีวิตของคนเรา เรื่องของการนอน เป็นสิ่งสำคัญมากไม่แพ้เรื่องอื่น ซึ่งแต่ละวันเราใช้เวลามากถึง 1 ใน 3 เพื่อการนอนหลับกันเลยทีเดียว การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนละเลยไม่ได้ แต่หลายคนก็มักจะมีปัญหาในเรื่องเกี่ยวกับการนอน บางคนนอนน้อย บางคนนอนไม่เป็นเวลา บางคนก็นอนไม่ค่อยหลับ และอีกหลายปัญหา หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งปัญหาหนึ่งที่ส่งผลกระทบไม่ใช่เฉพาะต่อตัวเองเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบไปยังคนร่วมเตียงกับเราด้วย นั่นคือ ปัญหาการนอนกรน และที่สำคัญคนนอนกรน อาจเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้ด้วย

ปัญหานอนกรน ดูเผิน ๆ อาจจะเป็นปัญหาไม่น่ากลับ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีอันตรายถึงชีวิตได้ วันนี้ “สามย่านมิตรทาวน์” มีข้อมูลที่น่าสนใจจากนายแพทย์ ณัฎฐพงศ์ อื้อเศรษฐศักดิ์ อายุรแพทย์ ประจำโรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ เกี่ยวกับอาการเหล่านี้มาให้ได้ลองสังเกตกัน
นอนกรน อันตรายจริงไหม ?

เป็นความจริง เพราะอาการนอนกรน บ่งบอกถึงการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้ผู้ป่วยนอนหลับไม่สนิท สะดุ้งตื่นเป็นช่วง ๆ ง่วงนอนในเวลากลางวัน มีแนวโน้มเกิดอุบัติเหตุจราจรหรือจากการทำงานมากกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ยังพบว่า มีความเสี่ยงสูงต่อโรคความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดสมอง และภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศอีกด้วย

เด็กนอนกรน สังเกตอย่างไร ?
ในเด็กอาจมีอาการนอนกรนได้เช่นกัน โดยเฉพาะในเด็กที่มีท่าทางการนอนที่ผิดปกติ เช่น ชอบนอนคว่ำ นอนตะแคง หรือเด็กที่ไม่มีสมาธิที่จะทำอย่างใดอย่างหนึ่งได้นาน หรืออาการสมาธิสั้น (Attention Deficit Disorder : ADD) เด็กที่หงุดหงิดง่าย และปัสสาวะราดในเวลากลางคืน พ่อแม่ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตบุตรหลานว่ามีอาการข้างต้นหรือไม่

ลดอาการกรนด้วยวิธีแปะปาก แปะคาง (ไม่ให้อ้า) ช่วยได้จริงไหม?
วิธีดังกล่าวข้างต้น ไม่สามารถช่วยแก้อาการนอนกรนได้ ในทางการแพทย์วิธีที่สามารถรักษาอาการนอนกรนได้ คือ การใช้เครื่องมือทางทันตกรรมช่วยเลื่อนขากรรไกรลงมาทางด้านหน้า เพื่อทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น หรือ การใช้เครื่องเป่าลมในทางเดินหายใจส่วนบน (Continuous Positive Airway Pressure : CPAP) ก็สามารถช่วยได้เช่นกัน โดยเป็นการนำหน้ากากครอบจมูก ขณะนอนหลับ หน้ากากจะต่อเข้ากับเครื่องที่สามารถขับลมแรงดันบวกออกมาขยายทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น

รับประทานอาหารและเครื่องดื่มอย่างไร เพื่อหลีกเลี่ยงการนอนกรน?
หลีกเลี่ยงยา หรือ เครื่องดื่ม ที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เช่น เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาลดน้ำมูกชนิดที่ทำให้ง่วง

รู้ได้อย่างไร? ว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ มีอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน หากปล่อยไว้ ดังนั้นควรหมั่นสังเกตตนเองหรือให้คนใกล้ชิดช่วยสังเกต ว่ามีภาวะนี้เกิดขึ้นกับเราหรือไม่ โดยอาการที่บ่งบอกว่าอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ คือ มีอาการหายใจขัด หายใจไม่สะดวก คล้ายสำลักน้ำลาย มีอาการสะดุ้งผวา หรือหายใจแรงเหมือนขาดอากาศหลังจากหยุดหายใจ นอนกรน นอนกระสับกระส่ายมาก

การตรวจ Sleep Test
สำหรับผู้ที่มีภาวะการหยุดหายใจขณะนอนหลับ ควรปรึกษาแพทย์ โดยทางการแพทย์จะใช้เครื่องมือ Sleep Test ในการตรวจ เหมาะสำหรับ ผู้ที่มีอาการนอนกรน และ ผู้ที่มีอาการที่บ่งบอกว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ได้แก่ ตื่นนอนตอนเช้าด้วยความอ่อนล้า ไม่สดชื่น นอนไม่เต็มอิ่ม ทั้ง ๆ ที่ได้นอนพักอย่างเต็มที่หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย ง่วงนอนตอนกลางวัน เผลอหลับกลางวัน นอนหลับไม่ราบรื่น เช่น ฝันร้าย ละเมอ กระสับกระส่าย หายใจขัด หายใจไม่สะดวก ขณะนอนหลับ มีอาการสะดุ้งผวา หายใจแรงเหมือนขาดอากาศหลังจากหยุดหายใจ ประสิทธิภาพในการทำงาน หรือผลการเรียนแย่ลง เพราะอาการง่วง ขาดสมาธิ

หากตัวเรา หรือ คนใกล้ชิด มีอาการเหล่านี้ ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อให้เรานอนหลับได้อย่างมีความสุข และการนอนหลับไม่เกิดอันตรายต่อตัวเรานั่นเอง

- Advertisment -

“SAMYAN MITRTOWN 3RD ANNIVERSARY มิตรเดย์ มิตรเลิฟ เฟสติวัล ”

ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายแคมเปญ “SAMYAN MITRTOWN...