สถานการณ์โควิด-19 กลับมาสร้างความวิตกกังวลให้กับคนไทยอีกแล้ว เพราะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนต้องหันกลับมาเพิ่มความสำคัญกับสุขอนามัยของตนเองและสภาพแวดล้อม
ขณะที่อาคารสำนักงาน หรือออฟฟิศต่าง ๆ ก็มีมาตรการด้านสาธารณสุข เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการวัดอุณหภูมิของพนักงานหรือผู้มาติดต่อก่อนเข้าภายในอาคาร การบริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือตามจุดต่าง ๆ หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม

แม้ว่าอาคารสำนักงานหลายแห่งจะมีมาตรการเข้มข้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ออฟฟิศหลายแห่งเลือกใช้มาตรการให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน หรือ Work From Home เพื่อความปลอดภัย ซึ่งทำให้คาดการณ์กันว่าการใช้พื้นที่สำนักงานจะลดความสำคัญลง หลายบริษัทอาจจะลดขนาดพื้นที่สำนักงานให้เหมาะสมกับจำนวนพนักงานที่ยังจำเป็นต้องใช้งาน และเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม อาจจะมีหลายบริษัทให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการทำงานในออฟฟิศ โดยเฉพาะภายหลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดีขึ้น แต่ในภาวะที่ยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เราจะมีการบริหารจัดการพื้นที่สำนักงานในปัจจุบันอย่างไร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและยังปลอดภัยจากการเชื้อโรคร้ายด้วย

แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะทำให้เกิดพฤติกรรม Work From Home แต่ข้อมูลจาก Work+Life during COVID-19 Impact ของ บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด และ บริษัท พีเพิลสเปซ คอนซัลติง (ประเทศไทย) จำกัด พบว่ากว่า 64% ของผู้บริหารองค์กรในประเทศไทยส่วนใหญ่คิดว่าองค์กรต้องหันกลับไปมองการใช้งานพื้นที่ทำงานและให้ความสำคัญกับการวางกลยุทธ์การจัดพื้นที่สำนักงาน (Workplace Strategy) เพื่อวิเคราะห์และวางกลยุทธ์การใช้งานพื้นที่ทำงานใหม่ ซึ่งมี 4 กลยุทธ์สำคัญ ในการจัดการพื้นที่ทำงานในช่วงโควิด-19
1.การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทำงานสู่ Activity-Based Workplace เพื่อลดขนาดและค่าใช้จ่ายขององค์กร
พนักงานส่วนใหญ่ในประเทศไทยกว่า 76% มีความต้องการที่จะทำงานที่บ้านต่อไปในอนาคตแม้โควิด-19 จะหายไปแล้วก็ตาม โดยกว่า 41% เห็นว่าองค์กรควรมีนโยบายให้ทำงานที่บ้าน ประมาณ 1-2 วันต่อสัปดาห์ ในขณะที่ 24% ของพนักงานไม่ต้องการทำงานที่บ้านเลย

2.การปรับเปลี่ยนองค์กรมุ่งสู่ Digital Workplace (S.M.A.R.T.) เพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน Smart Workplace ในที่นี้ประกอบไปด้วย Self-Monitoring, Analysing, Reporting Technology หรือเทคโนโลยีที่สามารถเก็บข้อมูลด้วยตัวเอง วิเคราะห์ และรายงานผลออกมาเพื่อให้ผู้ใช้งานตัดสินใจ
3.ลดการสัมผัสในการทำงาน (Contactless Journey) เพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้พนักงาน และสร้างสุขอนามัยที่ดีในองค์กร
ผลสำรวจพบว่าเรามักสัมผัสกับผิวสัมผัสต่างๆ ในพื้นที่ทำงานมากกว่า 200 ครั้งต่อวัน ซึ่งมีความเสี่ยงที่มีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโควิด-19

4.Well-Working และ Collaborative Climate ในที่ทำงานจะเป็นกุญแจสำคัญในการดึงดูดพนักงานมากกว่าการตกแต่งที่สวยงาม
องค์กรต้องหันมาให้ความสนใจด้าน “สุขอนามัยในที่ทำงาน” และ “การกระตุ้นบรรยายกาศในการทำงานร่วมกัน” ให้มากขึ้น เพราะนั่นหมายถึงประสบการณ์การทำงานที่ตอบสนองกับความต้องการของพนักงาน และควรถือโอกาสนี้ปรับพื้นที่ทำงาน การลงทุนออกแบบตกแต่งพื้นที่ทำงานให้สวยงามอาจจะไม่ใช่สิ่งที่พนักงานให้ความสำคัญที่สุดอีกต่อไป แต่การปรับเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์สำนักงานให้เหมาะสมกับกิจกรรมและการทำงานร่วมกัน อาจเป็นสิ่งที่องค์กรควรพิจารณา
สิ่งสำคัญในขณะนี้ นอกจากกลยุทธ์ทั้งหมดแล้ว องค์กรควรต้องใช้โอกาสจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิค-19 ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งการปรับพื้นที่ทำงานให้ประหยัดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด และปรับรูปแบบที่ทำงานให้เหมาะสมกับสภาพกิจกรรมการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ดึงดูดพนักงาน และสร้างความเชื่อมั่นให้พนักงาน เป็นแนวทางสร้างธุรกิจให้ยั่งยืนในอนาคต