ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา เป็นสาเหตุให้รัฐบาลต้องหามาตรการมาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจให้คึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปลายปี ซึ่งหนึ่งในแคมเปญกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ประกาศออกมา คือ ช้อปดีมีคืน ที่จะเริ่มตั้งแต่ 23 ตุลาคม ไปจนถึง 31 ธันวาคม 2563 นี้
โครงการ ช้อปดีมีคืน เป็นมาตราการกระตุ้นการใช้จ่ายสำหรับบุคคลที่เสียภาษีเงินได้ ด้วยการนำค่าซื้อสินค้าและบริการมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนจ่ายจริงรวมกันไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน แต่มีสินค้าบางรายการที่ไม่เข้าร่วม อาทิ สุรา, เบียร์ และไวน์ ค่าน้ำมัน และก๊าซ ค่าที่พักโรงแรม ค่าบริการ E-book ค่าหนังสือพิมพ์ และนิตยสาร เป็นต้น

แม้ว่าการเข้าร่วมใช้สิทธิในโครงการนี้จะไม่ได้ยุ่งยากอะไร แต่เชื่อว่าหลายคนยังคงสับสนและมีความเข้าใจผิด โดยเฉพาะกับ 6 ประเด็นเหล่านี้ ซึ่งลองมาทำความเข้าใจกันให้ชัด ๆ อีกครั้ง
1.หลายคนเข้าใจผิดว่า ค่าลดหย่อนช้อปดีมีคืน สามารถขอรับเป็นเงินสดคืนได้ที่ร้านค้าเลย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะการขอใช้สิทธิลดหย่อนช้อปปิ้งจะต้องทำโดยการ ยื่นภาษีประจำปี 2563 ให้กรมสรรพากรในช่วงต้นปี 2564 ได้เพียงวิธีเดียวเท่านั้น
2.หลายคนเข้าใจผิดว่า ค่าลดหย่อนช้อปดีมีคืน 30,000 บาท คือ เงินคืนภาษีจากมูลค่าเพิ่ม 7% ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะค่าลดหย่อนช้อปดีมีคืนนี้ เป็นสิทธิที่นำไปใช้เป็นค่าลดหย่อนสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

3.ถ้าคุณมีรายได้เฉลี่ยไม่เกินเดือนละ 25,833.33 บาท หรือเงินได้สุทธิทั้งปีไม่เกิน 150,000 บาท คุณไม่ต้องเสียเวลาต่อคิวเพื่อขอใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีเต็มรูปก็ได้ เพราะคุณอยู่ในเกณฑ์ได้รับการยกเว้นภาษีอยู่แล้ว ต่อให้ใช้สิทธิลดหย่อนช้อปปิ้งก็ไม่ช่วยให้ประหยัดภาษีเพิ่มขึ้น
4.ถ้าคุณมีคู่สมรสที่ต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ คุณทั้งคู่ก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนช้อปดีมีคืนได้สูง
สุดคนละ 30,000 บาท รวม 2 คนได้สิทธิ 60,000 บาท ลดหย่อนภาษีเฉพาะค่าสินค้าเข้าเกณฑ์ลดหย่อนเท่านั้น
5.ถ้าในใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำภาษีเดียวกัน มีรายการทั้งสินค้าที่เข้าเกณฑ์และไม่เข้าเกณฑ์ลดหย่อน คุณจะได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีเฉพาะค่าสินค้าเข้าเกณฑ์ลดหย่อนเท่านั้น

6.หลายคนเข้าใจผิดว่า ค่าลดหย่อนช้อปปิ้ง 30,000 บาท คือ เงินภาษีจากรัฐ 30,000 บาทเลย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะจะได้เงินคืนภาษีเพิ่มมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวน เงินได้ และ อัตราภาษี ของแต่ละคนด้วย เช่น รายได้ต่อปี 150,000-300,000 บาท จะเสียภาษีอัตรา 5% สิทธิได้รับเงินคืนภาษีสูงสุด 1,500 บาท ถ้ามีเงินได้สุทธิ 500,000-750,000 บาท จะเสียภาษีอัตรา 15% สิทธิได้รับเงินคืนภาษีสูงสุด 4,500 บาท เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ต้องศึกษารายละเอียดของโครงการและสินค้าที่เข้าร่วม รวมถึงสิทธิที่แต่ละคนจะได้รับการลดหย่อนว่ามีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งวิธีการช่วยลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปี ยังมีอีกหลากหลายวิธีการด้วยกัน
ที่มา : ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร www.itax.in.th